รอยช้ำตามร่างกายอย่าปล่อยไว้นาน เพราะอาจเป็นสัญญาณบอกโรคร้ายแรงได้ เช่นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เสี่ยงเสียชีวิตได้
อยู่ดี ๆ ร่างกายก็มีรอยช้ำ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารอยช้ำเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่หรือไปโดนอะไรมาก รู้ตัวอีกทีคือเจ็บหรือรอยช้ำมีสีเข้มมากแล้ว นายแพทย์อิศรา อนงค์จรรยา อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า รอยช้ำเกิดขึ้นได้ทั้งจากอุบัติเหตุและโรค สามารถแบ่งได้ดังนี้
- อุบัติเหตุหรือกระแทกสิ่งของ หากรอยช้ำเป็นรอยเขียวและเป็นรอยช้ำเพียง 1-2 จุด เฉพาะที่บนร่างกาย กดลงไปแล้วมักจะเจ็บเบา ๆ อาจเป็นรอยฟกช้ำธรรมดาที่เราเดินไปชนสิ่งของหรือเดินไปกระแทกกับของแข็งโดยไม่รู้ตัว
- อายุที่มากขึ้น ผิวหนังจะบางลง ไขมันและคอลลาเจนที่ช่วยปกป้องเส้นเลือดก็ลดลงตามไปด้วย ทำให้เส้นเลือดเปราะบางและแตกง่าย จึงเกิดเป็นรอยคล้ำเมื่อเลือดออกที่ผิวหนัง
- ขาดวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินซีและเค วิตามินซีอาจจะขาดจากทานผลไม้ไม่พอ และวิตามินเคอาจเกิดจากได้รับยาฆ่าเชื้อติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เลือดออกได้ง่าย จุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดเกิดได้ทั่วร่างกาย หากปล่อยไว้นานอาจรุนแรงขึ้นจนมีเลือดออกในอวัยวะสำคัญได้
- ใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผลข้างเคียงจากยาอาจทำให้เส้นเลือดฝอยเปราะบางและแตกง่าย จนเกิดรอยช้ำตามร่างกายได้บ่อยครั้ง
- เกล็ดเลือดต่ำหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ รอยช้ำมักจะเห็นได้ตามผิวหนังตื้น ๆ อาจเจอได้ชัดตามข้อพับ เกล็ดเลือดต่ำเกิดได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่ยาที่รับประทานไปจนถึงมะเร็ง หรือไขกระดูกฝ่อ ซึ่งต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
- ขาดโปรตีนแฟคเตอร์8 หากเป็นตั้งแต่กำเนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมเรียกว่าโรคฮีโมฟิเลีย แต่อาจถูกกระตุ้นจากโรคอื่น ๆ ได้ด้วย ทำให้การแข็งตัวของเลือดลดลงจนเกิดภาวะเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก และเกิดรอยฟกช้ำจ้ำใหญ่ทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักจะมีเลือดออกค่อนข้างรุนแรง ตามการขาดโปรตีนแฟคเตอร์
- โรคไขกระดูกบกพร่อง เกิดจากเกล็ดเลือดต่ำเพราะร่างกายสร้างได้ไม่ปกติ ทำให้มีรอยจ้ำหรือรอยช้ำเลือดตามร่างกาย เลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกในช่องปาก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีอาจกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย เป็น 1 ใน 10 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในไขกระดูกซึ่งเป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือด โดยเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเติบโตมากผิดปกติและไม่สามารถกลายเป็นเม็ดเลือดที่สมบูรณ์ได้ จนไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติชนิดอื่น ส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อง่าย อ่อนเพลีย เลือดออกง่ายผิดปกติ และเกิดจ้ำเลือดตามร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วและถูกวิธีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ง่าย
- ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก มักแป็นบริเวณขาและเกิดรอยจ้ำเขียว รู้สึกปวดร่วมกับมีอาการบวม แต่ถ้าลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันที่ปอดอาจทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก ไอ ไอปนเลือด เวียนศีรษะ หายใจถี่และหมดสติ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตรอยช้ำที่ไม่เป็นอันตรายส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นและค่อย ๆ จางหายไปเองใน 3 – 7 วัน และมักจะเป็นเฉพาะที่ แต่หากเป็นนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือรอยช้ำมีสีเข้มขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคร้ายแรงได้ ดังนั้น ควรสังเกตร่างกายตัวเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำหรืออาการอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2200
- Readers Rating
- Rated 3.5 stars
3.5 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating