ควรฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์เท่าไร มีขั้นตอนอย่างไร | Vejthani

บทความสุขภาพ

ความสำคัญของการฝากครรภ์ มีข้อดีอย่างไร?

Share:

การฝากครรภ์นั้นมีความสำคัญอย่างมากทั้งต่อตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ เพราะแพทย์จะช่วยดูแลสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์และทารกให้ปลอดภัย ทั้งทางด้านร่างกายและทางจิตใจ และจะได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วย เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคธาลัสซีเมีย และดาวน์ซินโดรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นการตรวจหาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อให้สามารถหาแนวทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ การฝากครรภ์ยังเป็นการติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ด้วยว่ามีการเจริญเติบโตตามปกติหรือไม่ ซึ่งหากคุณแม่เข้ารับการฝากครรภ์และเข้าพบแพทย์ตามที่นัดหมายไว้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้แพทย์ตรวจพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ในช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสม ที่สำคัญคุณแม่ยังได้รับคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญสำหรับการดูแลตนเองและทารกในครรภ์อย่างถูกวิธีด้วย

ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์เท่าใด?

ผู้ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก ก่อนอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์ หรือให้เร็วที่สุดตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยแพทย์จะทำการนัดหมายเพื่อตรวจครรภ์ตลอดช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงวันคลอดตามความเหมาะสมและตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขณะตั้งครรภ์

ขั้นตอนของการฝากครรภ์

สำหรับการนัดตรวจครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะทำการซักประวัติและทำการตรวจเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • การซักประวัติผู้ป่วย ได้แก่ วันที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด การใช้ยาหรืออาหารเสริม ประวัติการป่วยของสมาชิกภายในครอบครัว โรคทางอายุรกรรม เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่หรือไม่
  • ตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อตรวจวัดสัญญาณชีพจร และตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อตรวจเช็กปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงอาจมีการตรวจภายในตามข้อบ่งชี้
  • ตรวจเลือด ในการเข้ารับการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคและประเมินความเสี่ยงโรคที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ภาวะโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อต่าง ๆ ภูมิคุ้มกันของมารดาและหมู่เลือด

ทั้งนี้ หากคุณแม่มีปัญหาสุขภาพบางประการ แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมในเรื่องอื่นๆ และจะทำการนัดตรวจครั้งต่อไปจนถึงครบกำหนดคลอด โดยผลการตรวจจะถูกบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์ซึ่งคุณแม่ต้องนำพกติดตัวไปด้วยเสมอ หากเกิดภาวะฉุกเฉินแพทผู้ดูแลย์จะได้สามารถทำการรักษาให้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมตามอายุครรภ์และภาวะแทรกซ้อนจำเพาะราย

การเตรียมตัวก่อนไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล

สำหรับการไปฝากครรภ์ครั้งแรกนั้น คุณแม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ติดตัวไปด้วย

  • บัตรประชาชน เพื่อทำประวัติการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล
  • ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษา รวมถึงประวัติการแพ้ยา การคลอดบุตร และข้อมูลโรคประจำตัว
  • ข้อมูลการมีรอบเดือนครั้งสุดท้าย
  • สามี (ถ้าไปได้)

การเลือกสถานที่ฝากครรภ์

คุณแม่มือใหม่สามารถเลือกฝากครรภ์ได้ทั้งที่คลินิก ศูนย์แม่และเด็ก โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดควรเลือกสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้และสามารถเดินทางได้สะดวก เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจะได้เดินทางไปโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ สำหรับผู้ตั้งครรภ์ที่มีประวัติการรักษาโรคมาก่อน เช่น โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง การเลือกฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษาก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะแพทย์จะมีทั้งประวัติการรักษาและประวัติการใช้ยา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดูแลขณะตั้งครรภ์และการวางแผนดูแลระหว่างคลอดด้วยนั่นเอง

การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเวชธานี

คุณแม่จะได้รับการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร โดยสูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งมีความชำนาญสูงในการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด และดูแลครรภ์ความเสี่ยงสูงเป็นอย่างดี การเริ่มฝากครรภ์เร็วกับสูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ คุณแม่จะได้รับการประเมินปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งโรคทางอายุรกรรมและความผิดปกติของทารก, ได้รับการตรวจคัดกรองความผิดปกติแต่กำเนิดโดยละเอียด และสามารถวางแผนการดูแลอย่างเหมาะสม รวมถึงให้การรักษาทารกในครรภ์ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้รับการดูแลลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด ครอบคลุมตลอดการตั้งครรภ์ไปจนถึงกระบวนการคลอดบุตรอย่างปลอดภัย

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์สุขภาพสตรี
โทร 0-2734 0000 ต่อ 3200, 3204

  • Readers Rating
  • Rated 3.5 stars
    3.5 / 5 (17 )
  • Your Rating