รู้ตัวเมื่อสาย! แม้ร่างกายแข็งแรงแต่อาจเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันขณะออกกำลังกาย จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันที่ซ่อนอยู่ไม่รู้ตัว
บ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวการเสียชีวิตของนักวิ่งหรือนักกีฬาอื่น ๆ ที่เกิดจากหัวใจหยุดเต้นกะทันหันและหัวใจวาย ซึ่งร้อยละ 50 ของคนกลุ่มนี้ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซ่อนอยู่
แพทย์หญิงทรายด้า บูรณสิน อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า นักกีฬาอายุมากกว่า 35 ปี ที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย ร้อยละ 80 เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน (Coronary Artery Disease : CAD) ซึ่งโรคดังกล่าวมาจากการที่ร่างกายมีแคลเซียมหรือไขมันมากจนพอกเป็นตะกรันเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน หรือตะกรันแตกตัวจนมีลิ่มเลือดเข้าไปอุดในหลอดเลือดหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายหากหัวใจสูบฉีดเลือดไม่ได้
“อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันอาจแสดงมากขึ้นในขณะที่หัวใจต้องทำงานหนัก อย่างเช่นระหว่างออกกำลังกาย หรือแม้แต่การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้นบันได มีเพศสัมพันธ์ ออกแรงยกของ ตกใจ หรือแม้แต่หลังการออกกำลังกายก็สามารถเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด” แพทย์หญิงทรายด้ากล่าว
สำหรับการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจก่อนออกกำลังกาย มีวิธีตรวจดังนี้ คือ
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress test : EST) หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าการวิ่งสายพาน แต่จะไม่สามารถแสดงผลได้หากมีอาการตีบเพียงเล็กน้อยและหัวใจยังสูบฉีดเลือดได้ดี
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (coronary CCTA)
อาจพิจารณาทำในบุคคลที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจสูงมาก เช่น คำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลา 10 ปีของท่านแล้วมากกว่า 10% หรือมีประวัติในครอบครัว หรือมีภาวะไขมันโลหิตสูงจากพันธุกรรม และต้องการออกกำลังกายแบบเข้มข้น แต่ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบแพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจเพิ่มดังนี้
- การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery calcium scoring) คือการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจหาหินปูนที่บริเวณหลอดเลือดแดง หากพบค่าที่สูงกว่า 400 มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในระยะเวลา 2 – 5 ปีข้างหน้า
- การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization Angiography : CAG) คือการสอดสายสวนขนาดเล็กผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปที่หลอดเลือดหัวใจ แล้วฉีดสารทึบรังสีในหลอดเลือดหัวใจและเอกซเรย์ดูตำแหน่งที่ตีบ โดยแพทย์สามารถรักษาด้วยการบอลลูนขยายหลอดเหลือดหัวใจและใส่ขดลวดค้ำยัน (stent) ได้ทันทีเมื่อพบตำแหน่งที่ตีบ
การตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจในกลุ่มนักกีฬาจึงถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาจทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ซ่อนตัวอยู่แสดงอาการและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะคนที่เล่นกีฬาหนัก ๆ อย่างการวิ่งมาราธอน ไตรกีฬา ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจความพร้อมของหัวใจและร่างกาย หากพบว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์จะรักษาตามความรุนแรงของโรค ตั้งแต่การรับประทานยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกร็ดเลือด รวมถึงการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน รวมถึงให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันได้
ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหันหรือหัวใจวาย ควรรีบช่วยเหลือด้วยการ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) หรือการปั๊มหัวใจที่ถูกวิธีภายในเวลา 4 นาที เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์หัวใจ
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating