โรคช็อกโกแลตซีสต์
โรคช็อกโกแลตซีสต์หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่(Endometriosis) เป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาเมื่อถึงรอบประจำเดือน แล้วไปเจริญนอกโพรงมดลูก ซึ่งทางการแพทย์ อธิบายการเกิดได้หลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการที่เลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในอุ้งเชิงกราน ผ่านท่อนำไข่แล้วฝังตัวที่รังไข่จนเกิดเป็นถุงน้ำ และอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นในแต่ละเดือน
กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน นับตั้งแต่วัยเริ่มมีประจำเดือนจนถึงวัยก่อนหมดประจำเดือน เนื่องจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่จะสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง
- มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย
- มีประจำเดือนรอบสั้น โดยเฉพาะรอบห่างของประจำเดือนน้อยกว่า 27วัน
- มีประจำเดือนมาก หรือนานกว่า 7 วันต่อครั้ง
- มีสมาชิกในครอบครัว เช่น แม่ ยาย พี่สาว มีประวัติเป็นโรคนี้
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับทางออกของประจำเดือน เช่น ผู้ป่วยที่มีเยื่อพรหมจารีปิด หรือมีความผิดปกติที่ปากมดลูก
อาการของช็อกโกแลตซีสต์
ผู้ป่วยโรคช็อกโกแลตซีสต์ อาจมีอาการมากน้อยแตกต่างกัน แต่จะมีอาการที่พบได้บ่อย ที่สามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
- ปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องกินยาแก้ปวด
- ปวดบริเวณอื่นร่วมด้วยเวลามีประจำเดือน เช่นปวดหลัง ปวดเอว ปวดก้นกบ
- ท้องอืด ท้องเสีย และปวดมากเวลาถ่ายอุจจาระในช่วงที่มีประจำเดือน
- มีอาการปวดที่มดลูกหรือท้องน้อย ขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีภาวะมีบุตรยาก ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้
ภาวะแทรกซ้อน ของช็อกโกแลตซีสต์และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หากเป็นมากขึ้น อาจเกิดกรณีต่อไปนี้
- เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- ซีสต์อักเสบติดเชื้อจนเป็นฝี หรือปริแตก ทำให้ปวดท้องน้อยเฉียบพลันจนต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน
- มีบุตรยาก เนื่องจากท่อนำไข่อุดตัน และตัวอ่อนฝังตัวยากขึ้น
- มีพังผืดกดรัดท่อไต ทำให้ท่อไต หรือไตบวม
วิธีการรักษาช็อกโกแลตซีสต์
วิธีการรักษาช็อกโกแลตซีสต์ มีทั้งการใช้ยาและการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
- การใช้ยารักษา
ใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ก้อนไม่ใหญ่ และยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาจเป็นการให้ยาแก้ปวด ยาฮอร์โมน เพื่อควบคุมอาการ
- การผ่าตัด
ปัจจุบัน การผ่าตัดที่เป็นมาตรฐานในโรคช็อกโกแลตซีสต์ คือการผ่าตัดส่องกล้อง เนื่องจากมีข้อดีกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิม ดังนี้
– การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
อาจเปิดแผลแบบตรงหรือแบบขวาง คล้ายในการผ่าตัดคลอด มีข้อเสียคือแผลใหญ่ มีการเจ็บแผลหลังผ่าตัดมาก ใช้เวลาพักฟื้นนาน และมีโอกาสเกิดพังผืดจากการผ่าตัดได้มากกว่าการผ่าตัดส่องกล้อง
– การผ่าตัดส่องกล้อง
เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดแผลขนาดเล็ก 0.5-1 ซม.ที่หน้าท้อง แล้วผ่าตัดผ่านกล้องที่มีความละเอียดสูง สามารถผ่าตัดเลาะพังผืด และเอาซีสต์ออกได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่มีข้อดีกว่า คือแผลเล็ก เจ็บแผลน้อย ใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดไม่นาน โอกาสเกิดพังผืดหลังการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
วิธีการป้องกันช็อกโกแลตซีสต์
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่เป็นมาตรฐานในการป้องกันการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติมีประจำเดือนมามากหรือนานขึ้น อาการปวดรบกวนชีวิตประจำวันควรเข้าไปตรวจเช็คร่างกายกับสูตินรีแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องนอกจากนี้การตรวจสุขภาพเป็นประจำในทุกๆ ปี ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรงในภายหลังได้ด้วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 2 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3200 , 3204
- Readers Rating
- Rated 3.8 stars
3.8 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating