ปวดหัว! เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเพราะอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง รวมทั้งอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้หากไม่รีบรักษา
ปวดหัว หลายคนอาจมองว่าเป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ กินยาแก้ปวดเดี๋ยวก็หาย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ความจริงแล้วอาการปวดหัวนั้นมีหลายชนิด อาการบางอย่างสามารถบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงได้ โดยเฉพาะการปวดหัวที่มาพร้อมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ
แพทย์หญิงจุฑาทิพย์ รัตนพันธ์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า อาการปวดหัวที่อันตรายและเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง แบ่งออกเป็น 8 อาการ ดังนี้
- ปวดหัวรุนแรงแบบเฉียบพลัน ปวดขึ้นมาทันทีทันใดหรือปวดจนหมดสติ ไม่รู้สึกตัว อาจเกิดจากการมีเลือดออกในสมอง เช่น หลอดเลือดสมองแตก หลอดเลือดสมองโป่งพอง ซึ่งพบได้บ่อย
- ปวดหัวร่วมกับคอแข็งเกร็ง มีไข้ อาจเกิดจากมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือมีสมองอักเสบร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง จนทำให้เสียชีวิตได้
- ปวดหัวร่วมกับมีอาการทางระบบประสาทผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เวียนศีรษะ เดินเซ เห็นภาพซ้อน เป็นต้น อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคเนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดสมองตีบตันซึ่งเป็นได้ทั้งชนิดหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำอุดตัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้อัมพฤกษ์ อัมพาตได้
- ปวดหัวร่วมกับมีอาการชักเกร็งหรือกระตุก อาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองตีบตันใกล้บริเวณผิวสมอง เป็นได้ทั้งชนิดหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำอุดตัน หรือโรคเส้นเลือดขอดในสมอง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำบางตำแหน่งในสมองเชื่อมต่อกันผิดปกติ
- ปวดหัวบริเวณท้ายทอย บางครั้งปวดจนตาพร่ามัวหรือชักเกร็ง อาจเกิดจากความดันโลหิตสูงหรือภาวะความดันในกระโหลกศีรษะสูงผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ
- ปวดหัวมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทาง เช่น นั่ง ยืน นอน อาจเกิดจากภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองมากกว่าปกติ หรือ ภาวะความดันในกระโหลกศีรษะสูงหรือต่ำผิดปกติ
- ปวดหัวในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เนื้องอกในสมอง โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น HIV โรคทางภูมิคุ้มกันบกพร่องบางชนิด เช่น SLE
- ปวดหัวตลอดเวลาและไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม
“นอกจากนี้ยังมีอาการปวดหัวแบบที่ไม่เป็นอันตราย แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคเรื้อรังได้ นั่นคือการปวดหัวข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แต่ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยสาเหตุที่พบบ่อยมักเกิดจากโรคไมเกรนหรือการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่อันตรายแต่เป็นโรคเรื้อรังและรบกวนคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ อาการปวดหัวจากไมเกรนสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยารักษาชนิดรับประทานหรือชนิดฉีดใต้ผิวหนัง หรือการรักษาทางเลือกด้วยการฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน เพื่อป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน ร่วมกับหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ส่วนอาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัวหรือออฟฟิศซินโดรม สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาร่วมกับการกายภาพบำบัด ซึ่งอาการปวดหัวเหล่านี้หากไม่ได้รับการรักษาจะเรื้อรังและรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคร่วมอื่น เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ เป็นต้น” แพทย์หญิงจุฑาทิพย์กล่าว
เพราะฉะนั้น อาการปวดหัวจึงไม่ใช่อาการเพียงเล็กน้อยที่เราจะมองข้ามได้ แม้ว่าจะปวดไม่มากแต่ถ้าเกิดขึ้นเป็นประจำหรือมีอาการร่วมดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาให้ตรงโรค ตรงจุดและทันท่วงที
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5400
- Readers Rating
- Rated 4.2 stars
4.2 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating