หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมประเภทหนึ่ง โดยเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกถูกทำลายเสียหายจนไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นผลจากการใช้งานกระดูกสันหลังอย่างหนักเป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังโดยตรง สัญญาณของโรคนี้คืออาการชา อ่อนแรง ปวดหลังลามลงไปที่ขาหรือเท้า อาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ทั้งนี้ หากเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นบริเวณข้อด้านล่างของกระดูกเอว ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูงและพบได้บ่อยที่สุด อาจเสี่ยงอาการรุนแรงและจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดโดยด่วน
อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนตามแนวกระดูกสันหลัง ตั้งแต่คอไปจนถึงหลังส่วนล่าง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดหลัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังบริเวณกลางหลังหรือเอวด้านล่าง อาจมีอาการเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยอาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อไอ จาม หรือนั่งงอตัว
- ปวดขา กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขาจะทำให้มีอาการปวดเมื่อเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายในบางท่า ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่บริเวณเอว ขา ลงไปถึงเท้า นอกจากนี้อาจมีอาการชา ปวดร้าวลงขา และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย
พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น
หลายพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ อาจก่อให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้โดยไม่รู้ตัว ดังนี้
- แบกของหนัก การแบกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะการแบกของที่ผิดท่าอาจทำให้ใช้กล้ามเนื้อหลังมากเกินไป จนเกิดการบาดเจ็บและส่งผลกระทบต่อหมอนรองกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลัง
- ก้มเงยบ่อย หรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน การทำกิจกรรมก้ม ๆ เงย ๆ เป็นประจำ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ขัดห้องน้ำ เล่นสมาร์ทโฟน รวมถึงการนั่งท่าเดิมโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือนั่งผิดท่า เช่น งอหลัง ก้มคอ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศหรือผู้ที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อหลังแบกรับน้ำหนักมากเกินไปและอาจส่งผลกระทบต่อแนวกระดูกสันหลังด้วย
- นอนผิดท่า เช่น การนอนคว่ำอ่านหนังสือ หรือการนอนคู้ตัวเป็นประจำ อาจทำให้กระดูกสันหลังผิดรูป หรือเสื่อมง่าย
- น้ำหนักตัวมาก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออยู่ในภาวะอ้วน กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังจะแบกรับน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ง่ายและมีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมมากกว่าคนปกติ
- สูบบุหรี่ ผู้ที่สุบบุหรี่เป็นประจำเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากสารในบุหรี่ทำให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมง่าย
- ขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงและเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
นอกจากพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว การประสบอุบัติเหตุอย่างการตกจากที่สูงหรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังโดยตรง รวมถึงปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างพันธุกรรมหรืออายุที่เพิ่มขึ้นก็อาจทำให้เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นได้เช่นกัน
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค
- ยา ยาที่ช่วยรักษาอาการหมอนรองกระดูกทับเส้น มีทั้งยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงการฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบและปวด
- กายภาพบำบัด จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและลดอาการปวดได้ รวมถึงยังช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น แต่ควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์ นักกายภาพบำบัด และทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การกายภาพบำบัดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- การผ่าตัด หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัยและแม่นยำ ทั้งกล้อง Microscope และ Endoscope ที่ช่วยให้แผลผ่าตัดเล็กลง ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยและสามารถฟื้นตัวได้ไว นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่จะเพิ่มความแม่นยำในการใส่สกรู รวมถึง Intraoperative Neuromonitoring เทคโนโลยีช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะผ่าตัด ที่จะตรวจสอบการทำงานของเส้นประสาทแบบ Real Time จึงช่วยลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์อัมพาตหลังผ่าตัดได้
วิธีป้องกันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น
การป้องกันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง
นอกจากนี้ยังควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน งดสูบบุหรี่ ปรับท่านั่งและนอนให้ถูกต้องเพื่อลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลัง ตลอดจนระมัดระวังอุบัติเหตุที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระดูกสันหลัง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5500
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating