ลิ้นหัวใจ ทำหน้าที่เป็นประตูกั้นระหว่างห้องหัวใจทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนเลือดให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ป้องกันเลือดไหลย้อนกลับ หากลิ้นหัวใจมีความผิดปกติอาจส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือดและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยโรคลิ้นหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือโรคลิ้นหัวใจตีบ (Stenosis) และโรคลิ้นหัวใจรั่ว (Regurgitation)
โรคลิ้นหัวใจรั่ว คือภาวะที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท มีรูรั่วหรือขาด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือดในหัวใจลดลงและหัวใจทำงานหนักขึ้น
โรคลิ้นหัวใจตีบ คือภาวะที่ลิ้นหัวใจเปิดและปิดได้ไม่สุด จึงทำให้เลือดออกจากห้องหัวใจยากขึ้น ทำให้เกิดความดันและปริมาณเลือดสะสมย้อนกลับไปสู่ห้องหัวใจและหลอดเลือด
อาการของโรคลิ้นหัวใจตีบและรั่ว
- หายใจติดขัด สมรรถภาพการทำงานหรือออกกำลังกายลดลง
- เหนื่อยง่ายโดยเฉพาะเวลาออกแรง (Dyspnea Especially on Exertion)
- แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก (Chest Pain/Discomfort)
- นอนราบไม่ได้ (Orthopnea) หรือต้องลุกขึ้นหายใจช่วงกลางคืน
- หน้ามืด เป็นลม (Syncope)
- ใจสั่น (Palpitation)
- ตัวบวม ขาบวม ท้องอืด
- หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด (Heart Failure)
สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจ
- ความเสื่อมตามอายุ : โรคลิ้นหัวใจผิดปกติจากการเสื่อมสภาพ (Adult Degenerative Valve Disease) มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจมีความเสื่อมและมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ (Calcination) จนทำให้การเปิดหรือปิดของลิ้นหัวใจผิดปกติและนำไปสู่โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ทั้งรั่วและตีบ
- โรครูมาติก (Rheumatic Heart Disease) : เป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจที่พบมากที่สุด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ ที่ทำให้เป็นไข้รูมาติก ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของคออักเสบในวัยเด็ก โดยเชื้อดังกล่าวมีผลทำลายลิ้นหัวใจของผู้ป่วยในระยะยาว ส่งผลให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ ทั้งตีบ รั่ว หรือ ร่วมกัน
- ลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital) : โรคหัวใจหรือภาวะหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดมักจะเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
- การติดเชื้อบางชนิด (Infection) : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในเลือดและเชื้อโรคไปเกาะกินที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วหรือฉีกขาด เช่น เชื้อโรคที่เกิดจากการอักเสบของฟัน ฟันผุ เป็นต้น
- หัวใจวายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) : เช่น โรคหัวขาดเลือดเฉียบพลันอาจทำให้เกิดผลกระทบกับลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อลิ้นหัวใจขาด เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน
- ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue Disease) : อาจทำให้ลิ้นหัวใจหย่อนได้
การวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- เอกซเรย์ปอด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography)
- สวนวัดความดันในห้องหัวใจ (Cardiac Catheterization)
- ตรวจผ่านหลอดอาหาร (Transesophageal Echocardiography)
การรักษาโรคลิ้นหัวใจ มีดังนี้
- การรักษาทางยา : อาการในระยะแรกหรือโรคยังไม่มีความรุนแรง แพทย์จะเริ่มจากการรักษาด้วยยา
- การผ่าตัด: การรักษาโรคลิ้นหัวใจโดยการผ่าตัดแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ (Valve Repair): ในกรณีที่ลิ้นหัวใจถูกทำลาย ฉีกขาดหรือรั่ว สามารถผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจให้กลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งยังคงรักษาโครงสร้างเดิมของลิ้นหัวใจที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจและไม่ต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดไปตลอดชีวิต ลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติจากการรับประทานยา ในปัจจุบันถือเป็นการรักษาโดยการผ่าตัดที่ดีที่สุดถ้าทำได้ด้วยข้อเหนือกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement ) : ในกรณีที่ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพมาก เช่น มีหินปูนเกาะจนลิ้นหัวใจแข็งหรือถูกทำลาย รวมถึงฉีกขาดรุนแรงจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม โดยผู้ป่วยที่ใช้ลิ้นชนิดโลหะต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดไปตลอดชีวิต และหากใช้ลิ้นเทียมแบบสิ่งมีชีวิตมีโอกาสต้องผ่าตัดใหม่จากลิ้นหัวใจที่ เสื่อมโดยอายุใช้งานของลิ้นหัวใจขึ้นกับอายุคนไข้ สภาพร่างกาย และตำแหน่งของลิ้นหัวใจ
- การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน : ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด และมีโรคลิ้นหัวใจเอออติคตีบ แพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมโดยผ่านทางสายสวน เข้าไปทางหลอดเลือดเพื่อนำลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปเปลี่ยนโดยไม่ต้องผ่าตัดเอาลิ้นหัวใจเดิมออก วิธีการนี้ยังถือเป็นวิธีการใหม่ที่ต้องดำเนินการ โดยจำกัดในทีมแพทย์ ที่มีประสบการณ์ ศูนย์หัวใจที่พร้อมและ คนไข้ที่มีข้อบ่งชี้ที่เคร่งครัดและ มีสภาพที่เหมาะสม
ดังนั้นการรักษาโรคลิ้นหัวใจนั้น แพทย์จะต้องพิจารณาถึงพยาธิสภาพ ของลิ้นหัวใจ อายุ โรคประจำตัว ความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อนและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างละเอียด การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง การประเมินสภาพอย่างรอบคอบโดยทีมแพทย์ ที่มีประสบการณ์ ความชำนาญและ การเลือกสรรวิธีการ รักษาที่เหมาะสม โดยการพิจารณาร่วมกับคนไข้ อย่างใกล้ชิด ทั้งหมด นี้จะทำให้แพทย์ สามารถกำหนดแผนการรักษาโรคลิ้นหัวใจที่ดีที่สุดให้คนไข้ และคนไข้มีโอกาสสูงสุดที่จะปลอดภัยและหายขาดจากโรคนี้ได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300
- Readers Rating
- Rated 3.8 stars
3.8 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating