ความรุนแรงของเส้นเลือดขอด มีความแตกต่างกันในแต่ละระยะ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดโอกาสในการลุกลามของแผลเส้นเลือดขอดได้
นายแพทย์ศุภชัย จันทร์วิทัน ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด ที่ปรึกษาโรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า เส้นเลือดขอด หรือชื่อในทางการแพทย์คือ โรคหลอดเลือดดำชั้นตื้นบกพร่องเรื้อรัง หมายถึงการที่เส้นเลือดมีการปูดขยายคล้ายตัวหนอนมากกว่า 3 มิลลิเมตร สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดแรงดันภายในหลอดเลือด เลือดจึงไหลเวียนกลับไปเลี้ยงที่หัวใจได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนเกิดอาการปวดและบวมบริเวณขาในที่สุด
กรรมพันธุ์ เพศ อาชีพ การใช้งาน และโครงสร้างหลอดเลือด ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้ ซึ่งอาการที่พบได้ทั่วไปคือ อาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา, เป็นตะคริวช่วงกลางคืน, บวม ตึง แสบร้อน, รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน, คันรอบ ๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น, อาจมีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน, อาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง, เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนัง หรือบางรายอาจเกิดอาการอักเสบรุนแรงจนเกิดแผลได้
ความรุนแรงของอาการ จะมีความแตกต่างกันในแต่ละระยะ ซึ่งแบ่งเป็น 6 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 เส้นเลือดมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม มักมีขนาดน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร
ระยะที่ 2 เส้นเลือดเริ่มปูดเป็นตัวหนอน ขนาดใหญ่มากกว่า 3 มิลลิเมตร และมีอาการปวดเมื่อใช้งานเป็นระยะเวลานาน เช่น นั่ง เดิน หรือ ยืน
ระยะที่ 3 เริ่มมีอาการขาบวม และปวดมากขึ้นถึงแม้จะใช้งานในระยะเวลาสั้น ๆ
ระยะที่ 4 สีผิวที่ขาเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มขึ้น ซึ่งเป็นภาวะอักเสบของผิวหนัง
ระยะที่ 5 แผลหายจากการรักษา แต่ยังมีลักษณะอื่น ๆ ร่วม เช่น ผิวหนังที่เปลี่ยนสีเป็นสีดำระยะที่ 6 เกิดแผลที่เป็นลักษณะเฉพาะของแผลบริเวณหลอดเลือดดำ เช่น ขอบแผลแดง
เป้าหมายของการรักษาเส้นเลือดขอด คือการลดอาการปวดที่เกิดจากแรงดันในหลอดเลือด เพื่อไม่ให้รบกวนชีวิตประจำวันอีกต่อไป ดังนั้น การรักษาที่เหมาะสมคือการลดแรงดันในหลอดเลือดดำ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือการให้ยาลดการอักเสบของหลอดเลือดดำ หรือ การใส่ถุงน่องเส้นเลือดขอดเพื่อให้เลือดภายในหลอดเลือดดำไหลกลับคืนสู่หัวใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ 2 วิธีนี้ จะช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายได้
ส่วนการรักษาแบบผ่าตัด เหมาะสำหรับคนไข้ที่เริ่มมีอาการ ตั้งแต่ระยะ 2 ขึ้นไป โดยในปัจจุบันมีการผ่าตัดรักษาแบบแผลเล็ก ได้ผลดีเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม สามารถทำได้ทั้งแบบใช้ความร้อนทำลายหลอดเลือด คือการทำเลเซอร์ หรือ ใช้คลื่นวิทยุ และแบบไม่ใช้ความร้อน คือการฉีดสารเคมี หรือ ใส่กาววิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าไปทำลายผนังหลอดเลือดดำจนไม่มีเลือดไหลผ่าน ซึ่งวิธีนี้เป็นการผ่าตัดสมัยใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม และให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ทำให้มีแผลขนาดเล็กประมาณ 2 – 3 มม. เจ็บน้อย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
“ การรักษาแผลเส้นเลือดขอด ถ้ารักษาไม่ถูกวิธี เช่น เจอแผลแล้วทำแค่แผล จะยิ่งทำให้เกิดการลุกลาม แผลอาจมีน้ำเหลืองออกมามากขึ้น โดยวิธีที่ถูกต้องคือการรักษาแรงดันในหลอดเลือดดำ เพราะถ้าไม่ลดแรงดัน แผลก็จะไม่หาย เพราะฉะนั้นหากพบว่ามีปัญหาเรื่องเส้นเลือดขอด ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาที่เหมาะสม ” นายแพทย์ศุภชัย กล่าว
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 4500 , 4501
- Readers Rating
- Rated 3.5 stars
3.5 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating