ลดความดันโลหิตสูงได้แค่ปรับพฤติกรรม แต่ในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปี อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงจากโรคที่ซ่อนอยู่ หากรักษาหายก็มีโอกาสที่ค่าความดันจะกลับมาเป็นปกติได้
ความดันโลหิตคือค่าความดันภายในหลอดเลือดแดงที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจ เพื่อส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ค่า ประกอบด้วยค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure) คือค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นขณะที่หัวใจบีบตัว ส่วนค่าความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) คือค่าความดันของเลือดที่ขณะที่หัวใจคลายตัว โดยในประเทศไทยกำหนดค่าความดันโลหิตปกติคือค่าความดันโลหิตตัวบนไม่เกิน 140 และตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท หากเกินกว่านี้จะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนหัว ปวดหัว เหนื่อยง่าย
นายแพทย์ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ไม่มีสาเหตุชัดเจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะคนที่อายุมากขึ้นก็จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ 2. มีสาเหตุอื่นซ่อนอยู่ (secondary hypertension) เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด โรคไตเรื้อรัง หรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดไต เป็นต้น ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10 – 20 ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
“การวัดค่าความดันโลหิตเพียงครั้งเดียวยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องวัดซ้ำ 2 – 3 ครั้ง และตรวจติดตามเป็นระยะเพราะค่าความดันโลหิตเป็นตัวเลขที่มีปัจจัยหลายอย่างมากระทบได้ง่าย เช่น ความเหนื่อย ความเครียดหรือกังวล นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่อายุน้อยก็สามารถเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน โดยเป็นได้ทั้งแบบมีสาเหตุและไม่มีสาเหตุ แต่ถ้าอายุน้อยกว่า 35 ปี แล้วเริ่มเป็นโรคความดันโลหิตสูงควรค้นหาว่ามีโรคอื่นซ่อนอยู่หรือไม่ เพราะถ้าตรวจเจอแล้วรักษาโรคที่ซ่อนอยู่ได้ โรคความดันโลหิตสูงก็มีโอกาสหายขาดโดยไม่ต้องกินยาไปตลอดชีวิตได้เช่นกัน” นายแพทย์ศุภสิทธิ์กล่าว
สำหรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือการรับประทานยาและการปรับพฤติกรรม ซึ่งการปรับพฤติกรรมถือว่าเป็นวิธีที่สำคัญมาก โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม ควรจำกัดโซเดียมไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับเกลือแกง 1 ช้อนชา หากเป็นน้ำปลาหรือซีอิ๊ว ไม่ควรเกิน 3-4 ช้อนชาต่อวัน
- ลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยดัชนีมวลกายไม่เกิน 23 ผู้ชายรอบเอวไม่เกิน 36 นิ้ว ผู้หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว ซึ่งคนที่มีน้ำหนักเกินมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าคนที่น้ำหนักปกติ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยลดค่าความดันโลหิตสูงได้
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากปรับพฤติกรรมได้ตามนี้จะช่วยควบคุมค่าความดันโลหิตได้หรืออาจทำให้ค่าความดันโลหิตลดลง ส่วนผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาก็ควรรับประทานให้ครบตามแพทย์สั่งและพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ นายแพทย์ศุภสิทธิ์ยังแนะนำให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงวัดความดันเองที่บ้านและจดบันทึกเป็นประจำทุกวัน เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์ประเมินอาการหรือปรับยาตามความเหมาะสม
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300
- Readers Rating
- Rated 4.4 stars
4.4 / 5 (Reviewers) - Outstanding
- Your Rating