กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท รักษาได้ด้วยเทคนิค OLIF - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท รักษาได้ด้วยเทคนิค OLIF

Share:

เดินลำบาก ปวดหลังร้าวลงขา สัญญาณโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน เกิดขึ้นได้ทุกวัยแต่รักษาให้หายขาดได้ด้วยเทคนิค OLIF ลุกเดินใน 12 – 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดทรมานไม่แพ้โรคทางกระดูกสันหลังชนิดอื่น ๆ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้สูงอายุและวัยรุ่น

ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทมักจะมีอาการหลักคือปวดหลังเวลาก้มหรือแอ่นหลัง และปวดร้าวลงขารวมถึงมีอาการชาร่วมด้วย อาจจะเป็นเพียงหนึ่งข้างหรือทั้งสองข้างร่วมกันก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะสะโพกและต้นขา รวมทั้งมีอาการกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงจนเดินลำบากหรือเดินไกลไม่ได้ โดยจะมีอาการเหล่านี้เรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ กลายเป็นความทรมานที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

นายแพทย์ไชยยศ ชัยชาญกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสียหายหรือฉีกขาด จนทำให้ของเหลวที่อยู่ในหมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ซึ่งหมอนรองกระดูกสันหลังจะอยู่ตรงกลางระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ มีความยืดหยุ่นคล้ายเจลลี่ ทำหน้าที่รับน้ำหนักที่ส่งผ่านมาทางกระดูกสันหลังและช่วยให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อมีการใช้งานกระดูกสันหลังหนัก ใช้งานผิดท่า หรือเกิดอุบัติเหตุจนส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังโดยตรง อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสียหายหรือฉีกขาดได้ง่าย

“สาเหตุหลักที่ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ มักเกิดจากความเสื่อมของแนวกระดูกสันหลัง ทั้งบริเวณข้อต่อและหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้แนวกระดูกสันหลังไม่มั่นคงและเคลื่อนจนไปกดทับเส้นประสาท

2. กลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของชิ้นกระดูกสันหลังตั้งแต่วัยเด็ก หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ยังเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวที่มากเกินไป การยกของหนักและนั่งในท่าที่ไม่ถูกต้องเป็นประจำ การเคลื่อนไหวผิดท่าแบบฉับพลัน ตลอดจนการเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกไปที่กระดูกสันหลัง ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทได้ง่าย” นายแพทย์ไชยยศกล่าว    

สำหรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษานั้น แพทย์จะต้องซักประวัติเพื่อหาสาเหตุ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์และทำ MRI เพื่อดูความรุนแรงของโรค หากอาการไม่รุนแรงแพทย์จะรักษาด้วยยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง 6 – 8 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูก แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลังหรือมีปัญหากระดูกสันหลังคดร่วมด้วย แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดด้วยเทคนิค OLIF หรือการผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกทางด้านข้างลำตัว (Oblique lumbar interbody fusion) เป็นการผ่าตัดผ่านท่อขนาดเล็กบริเวณข้างลำตัวของผู้ป่วย เพื่อใส่หมอนรองกระดูกเทียมพร้อมกับแก้ไขแนวกระดูกสันหลังที่ผิดปกติและกดทับเส้นประสาทด้วยอุปกรณ์ค้ำกระดูกสันหลัง วิธีนี้จะทำให้แผลมีขนาดเล็ก ลดการทำลายกล้ามเนื้อหลัง เสียเลือดน้อย ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดการบาดเจ็บของเส้นประสาทและลดการเกิดพังผืดเกาะเส้นประสาทหลังการผ่าตัดได้ โดยผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ใน 12 – 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 วัน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 2298 , 2299

  • Readers Rating
  • Rated 3.6 stars
    3.6 / 5 (7 )
  • Your Rating