“ปวดหลัง” เป็นอาการที่คนส่วนมากน่าจะเคยมีประสบการณ์กันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากการยกของหนัก หรืออาจจะเป็นอาการเรื้อรังจากออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเมื่อมีอาการเกิดขึ้น เรามักจะกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ หรือไม่ก็ปล่อยทิ้งไว้ เพราะคิดว่าจะหายไปเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดหลังอาจจะร้ายแรงกว่าที่เราคิด และอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของเราในระยะยาวได้
ทำไมเราถึงปวดหลัง
อาการปวดหลังส่วนใหญ่มักเกิดใน 3 ลักษณะด้วยกัน
ลักษณะแรก คืออาการตึง หดเกร็ง หรือฉีกขาดของกล้ามเนื้อส่วนหลังบางส่วน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ยกของหนักหรือยกในท่วงท่าที่ไม่เหมาะสม การเคลื่อนไหวที่ผิดท่าทางไปจากเดิมอย่างกะทันหัน เช่น การล้ม การเกิดอุบัติเหตุ อิริยาบถอย่างการนั่ง การนอน หรือการยืนที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ลักษณะที่สอง เป็นอาการที่เกิดจากปัญหาของโครงสร้างร่างกายอย่างกระดูกสันหลัง ทั้งการเสื่อมของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกอักเสบ ข้อต่ออักเสบ การหักหรือร้าวอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุหรือการกระแทกอย่างรุนแรง
ลักษณะที่ 3 เป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องจากมาจากโรคอื่น ๆ ซึ่งจะมีอาการปวดร้าวมาถึงแผ่นหลัง เช่น นิ่วในไต ภาวะกรวยไตอักเสบ
เช็กด่วน เราปวดหลังรุนแรงแค่ไหน
ที่จริงแล้วอาการปวดหลังเป็นอาการที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก่อนที่จะคิดว่า “ไม่เป็นไร” ลองมาตรวจสอบดูก่อนว่า อาการปวดหลังของเรารุนแรงแค่ไหน โดยเราอาจจะประเมินความเจ็บปวดของตัวเองเบื้องต้นจาก 1 ถึง 10 โดยที่ 1 เป็นการปวดในระดับที่ทำให้เรารู้สึกรำคาญ แต่ไม่ได้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วน 10 เป็นอาการปวดขั้นรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งหากว่าเรารู้สึกว่าเจ็บปวดเกินระดับ 7 จะถือว่าเป็นความเจ็บปวดในระดับที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว
- อาการปวดแบบไม่รุนแรง มักจะเป็นอาการปวดที่เราทราบสาเหตุหรือเดาสาเหตุได้ โดยมักเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่เหมาะสม เช่น การออกกำลังกายผิดท่าหรือหักโหมเกินไป การหกล้ม การยกของหนัก การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ เป็นอาการเจ็บปวดที่อยู่ในระดับที่สามารถทนได้ รักษาโดยกินยาแก้ปวดหรือพักผ่อนให้ท่าทางที่เหมาะสม แต่หากภายใน 3-5 วันอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป
- อาการปวดแบบรุนแรง เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เรื้อรัง หรือรุนแรง ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเป็นอาการปวดที่มาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น จากอุบัติเหตุ อาการที่ปวดร้าวอันเนื่องมาจากโรคอื่น ๆ และโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก
อาการปวดหลัง ที่เป็นสัญญาณอันตรายต้องรีบพบแพทย์
สำหรับคนที่คิดว่าอาการปวดของตนเองยังไม่รุนแรง ก็สามารถสำรวจอาการของตัวเองก่อนได้ แต่ถ้าเรามีอาการคล้ายคลึงกับอาการต่อไปนี้ ให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน อาจจะมีอาการรุนแรงกว่าที่เราคิด
- ปวดเรื้อรัง หากกินยาและพักผ่อนแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการอย่างละเอียด เพื่อทำการรักษาอย่างตรงจุด
- มีอาการหลังจากเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดการกระทบกระทั่งบริเวณหลังอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน เพราะในหลายครั้งจะแสดงอาการมากขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุประมาณ 1-3 วัน
- มีอาการปวดร้าวลงขาและสะโพก หรือมีอาการขาอ่อนแรง ชา หรือขยับร่างกายไม่ได้ร่วมด้วย
- มีอาการรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ
ปวดแบบนี้เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง
อาการปวดหลัง เป็นอาการของโรคต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
- ปวดเหนือบั้นเอวทั้งสองข้าง มักจะเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติจากอวัยวะอื่นที่ส่งผลต่อการทำงานของไต เช่น ไตอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งหากปล่อยทิ้งเอาไว้นาน ๆ อาจจะทำให้เกิดภาวะไตติดเชื้อ หรือไตวายได้ ดังนั้น หากมีอาการปวดหลังบริเวณดังกล่าว จึงควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- ปวดท้องและปวดบริเวณเหนือบั้นเอวทั้งสองข้าง อาการนี้คล้ายกับข้อแรก แต่มักจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นอาการของกระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ หากไม่แน่ใจว่าเป็นอาการร่วมกัน หรือเป็นอาการของโรค 2 อย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
- ปวดบริเวณเอวและมีไข้หนาวสั่น อาจจะเป็นภาวะของโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อตามทางเดินปัสสาวะ ซึ่งนอกจากอาการปวดหลังแล้ว อาการที่ชัดเจนก็คือ การปัสสาวะขัดหรือแสบ มีสีขุ่น และมีอาการไข้หนาวสั่น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- อาการร่วมกับอาการแขนขาชา ไม่มีแรง เป็นอาการหนึ่งของภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการอักเสบ โดยอาการส่วนใหญ่จะปวดหลังบริเวณเอวแบบเป็น ๆ หาย ๆ บางทีปวดร้าวมาถึงขา และมีอาการชาร่วมด้วย หากปล่อยทิ้งเอาไว้อาจจะมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่น ขาไม่มีแรง การขับถ่ายมีปัญหา
- ปวดหลังเรื้อรัง หากว่ามีอาการปวดหลังเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ อาจเป็นอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมหรือโรคอื่น ๆ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจจะทำให้กระดูกผิดรูปหรือมีอาการบาดเจ็บรุนแรงได้เช่นกัน
แนวทางการรักษา
แพทย์จะทำการวินิจฉัยและรักษาที่ต้นเหตุของโรค กล่าวคือ หากเป็นอาการปวดหลังอันเนื่องมาจากโรคอื่น ๆ อย่างเช่น โรคกรวยไตอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ ก็จะมุ่งไปรักษาที่ต้นทาง เพื่อบรรเทาอาการปวดให้คลายลงไปได้
ในกรณีที่ไม่เกี่ยวกับโรคอื่น ๆ แพทย์จะรักษาตามอาการ จากเบาไปหนัก คือ ให้กินยาเพื่อบรรเทาอาการปวด หากว่าเป็นอาการปวดไม่มาก หากยังไม่ดีขึ้น จะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดและปรับพฤติกรรม แต่หากมีอาการรุนแรงอาจจะแนะนำให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัด
อาการปวดหลัง แม้ว่าจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยแต่เราก็ไม่ควรประมาท โดยเฉพาะหากว่ามีอาการเรื้อรัง รุนแรง หรือมีอาการหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุหรือโดนกระแทกอย่างรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทันที ที่ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี เราให้การรักษาด้านอาการปวดคอและปวดหลังโดยเฉพาะ พร้อมด้วยเครื่องมือแพทย์อันทันสมัย รวมถึงทีมศัลยแพทย์ที่มากประสบการณ์ อีกทั้งยังมีนักกายภาพบำบัดเฉพาะทางที่พร้อมให้บริการด้วยคุณภาพระดับสากล
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5500
- Readers Rating
- Rated 4 stars
4 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating