เนื้องอกมดลูก อันตรายแค่ไหน? ควรปล่อยทิ้งไว้หรือควรผ่าตัดดี

บทความสุขภาพ

รู้จักเนื้องอกมดลูกโรคยอดฮิตในผู้หญิง

Share:

“ไปตรวจสุขภาพมาเจอเนื้องอกมดลูก ต้องรีบผ่าล่ะ” 

“ไปตรวจมาเหมือนกัน แต่หมอบอกว่าให้รอดูก่อนว่าเนื้องอกโตขึ้นหรือเปล่า ค่อยมาผ่าทีหลัง”

เมื่ออายุเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ผู้หญิงเรามักจะมีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคของมดลูกและรังไข่ตั้งแต่อาการเจ็บปวดที่เกี่ยวเนื่องจากประจำเดือน ไปจนถึงเนื้องอกและมะเร็งมดลูกที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้หญิงทุกคน และหนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงคือเนื้องอกมดลูกที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัยแต่ละคนอาจมีความรุนแรงไม่เท่ากันซึ่งการทำความเข้าใจโรคเนื้องอกมดลูกรู้จักวิธีการรักษารวมถึงการดูแลตัวเองจะช่วยให้ความกังวลลดลงได้

มาทำความรู้จักเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อมดลูกและเป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อยของอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกโดยสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงดังนั้นจึงพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์คือตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกไปจนถึงช่วงหมดประจำเดือน 

ประเด็นแรกที่ผู้หญิงทุกคนต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือเนื้องอก “ไม่ใช่” เนื้อร้ายหรือมะเร็งเสมอไปไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลจนเกินไปเพราะส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกขนาดเล็กที่ไม่กระทบต่อสุขภาพยกเว้นเนื้องอกจะเป็นเนื้องอกที่มีอาการ หรือมีขนาดใหญ่จนไปเบียดอวัยวะข้างเคียงก็อาจทำให้มีผลกระทบจากอวัยวะที่โดนเบียดได้โดยทั่วไปเนื้องอกอาจจะเติบโตอย่างช้า ๆ หรืออาจจะไม่เติบโตขึ้นเลยอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้เพราะฉะนั้นควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อทราบแนวทางการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ใครที่เสี่ยงเป็น

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้หญิงในวัยเจริญพันธ์ทุกคนมีความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกมดลูกแต่มักจะพบบ่อยในกลุ่มต่อไปนี้ 

  1. กลุ่มผู้หญิงอายุ25 – 30 ปี ซึ่งพบในอัตราร้อยละ 30-50 ขณะที่ในผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเนื้องอกจะมีขนาดเล็กลงเอง 
  2. มีประวัติคนในครอบครัวมีเนื้องอกมดลูก มีแนวโน้มที่จะเป็นมากกว่าผู้ที่ไม่มีคนในครอบครัวเป็นเนื้องอกในมดลูกซึ่งความเสี่ยงทางพันธุกรรมนี้จะเกี่ยวข้องกับระดับและการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคแต่อย่างใด 
  3. มีประวัติรับประทานยาและสารที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งกระตุ้นให้เนื้องอกมดลูกโตขึ้นได้

เนื้องอกมดลูกมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งเพียงร้อยละ 0.25 – 1.08 เท่านั้นเพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลหากตรวจพบในครั้งแรกเพียงแต่ต้องคอยตรวจติดตามและมาตามนัดของแพทย์ของอย่างสม่ำเสมอ 

อาการเตือนที่บอกว่าเราอาจจะเป็นเนื้องอกมดลูก

สำหรับอาการของเนื้องอกมดลูกที่พบได้บ่อย ได้แก่ 

  • ความผิดปกติของประจำเดือน ไม่ว่าจะเป็นมานานขึ้น มาบ่อยขึ้น หรือมามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ และอาจจะมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย 
  • ปัสสาวะบ่อยกลั้นปัสสาวะลำบากและท้องผูกเรื้อรัง เนื่องจากก้อนของเนื้องอกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ 
  • คลำเจอก้อนเนื้อ ในกรณีที่เนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่หรือ/และมีจำนวนมากจะสามารถคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้อง ซึ่งจะสังเกตได้จากบริเวณท้องน้อยที่บวมหรือโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • มีบุตรยาก หรือแท้งบ่อย เกิดจากการไปขัดขวางการฝังตัวของทารก

อย่างไรก็ตามในสตรีที่มีเนื้องอกมดลูกจำนวนมากไม่มีอาการใดๆเลยและตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อไปตรวจภายในหรือตรวจอัลตราซาวน์จึงไม่ควรประมาทและควรตรวจภายในหรืออัลตราซาวน์อุ้งชิงกรานเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ก้อนเนื้องอกยังไม่ใหญ่มากเพื่อพิจารณาการดูแลรักษาต่อที่เหมาะสมจากแพทย์เฉพาะทาง 

สัญญาณอันตราย เมื่ออาการเริ่มรุนแรง

โดยทั่วไปเมื่อตรวจเจอเนื้องอกมดลูกที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่หรือไม่ได้ใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วจนผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้อัลตราซาวนด์เพื่อติดตามดูขนาดของเนื้องอกเป็นระยะเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะในรายที่ไม่เจออาการบ่งชี้ใด ๆ แต่ในรายที่เนื้องอกส่งสัญญาณอันตรายจนเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและการตั้งครรภ์ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเพราะหากเนื้องอกไปเบียดอวัยวะอื่น ๆ อาจทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากขึ้น

วิธีการรักษา

แพทย์จะแบ่งการรักษาตามความรุนแรงและขนาดของเนื้องอกดังนี้ 

  1. ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดเล็กและไม่มีอาการ จะติดตามขนาดของเนื้องอกเป็นระยะด้วยการอัลตราซาวน์ เพื่อให้แน่ใจว่าก้อนเนื้องอกไม่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
  2. ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดเล็กแต่มีอาการปวดหรือภาวะอื่น ๆ แพทย์จะให้ยารักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดหากมีอาการปวดเนื่องมาจากเนื้องอกแพทย์อาจจะให้รับประทานยาระงับปวดยาบำรุงเลือดหรือยาฮอร์โมนที่ช่วยลดปริมาณประจำเดือน
  3. ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆหรืออาการไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา แพทย์จะวินิจฉัยให้เข้ารับการผ่าตัด

การรักษาด้วยการผ่าตัด

ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นมีอาการแทรกซ้อนกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ รวมถึงส่งผลต่อการมีบุตรแพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดโดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือผ่าตัดแค่ก้อนเนื้องอกออกมาและผ่าตัดนำมดลูกออกไปเลยซึ่งขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรคความต้องการมีบุตรและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจโดยมีเทคนิคการผ่าตัดดังต่อไปนี้

  1. การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกหรือมดลูกออกมาทางหน้าท้องโดยจะเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 ซม. จำนวน 3 – 4 แผลทำให้เจ็บแผลน้อยและพักฟื้นไม่นาน
  2. การผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้แผล (NOTES) โดยมากจะใช้กับการผ่าตัดนำมดลูกออกแพทย์จะส่องกล้องทางช่องคลอดทำให้ไม่มีแผลช่วยให้เจ็บน้อยลงนอกจากนี้ยังลดการเกิดพังผืดภายในช่องท้องหลังการผ่าตัดอีกด้วย
  3. การผ่าตัดเปิดหน้าท้องเป็นการผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกหรือนำมดลูกออกโดยจะเปิดหน้าท้องเป็นแผลขนาดประมาณ 10 ซม. วิธีนี้ผู้ป่วยจะเจ็บแผลมากกว่าวิธีอื่นและใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า

อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกออกไป หากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นเนื้องอกมดลูกได้อีกครั้ง จึงยังต้องไปตรวจกับแพทย์ตามนัด และตรวจร่างกายประจำปีเป็นประจำทุกปี
สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจหาหรือปรึกษาเกี่ยวกับโรคเนื้องอกมดลูกหรือสุขภาพสตรีอื่น ๆ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี เรามีทีมแพทย์เฉพาะทางที่วิจิจฉัยโรคและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดพร้อมนัดหมายได้ที่ โทร. 0 2734 0000 ต่อ 3200, 3204

ผ่าตัดทางนรีเวช “ส่องกล้อง” แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว

  • Readers Rating
  • Rated 4.4 stars
    4.4 / 5 (15 )
  • Your Rating