มิติใหม่แห่งการผ่าตัดซ่อมและเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยเทคนิคส่องกล้อง แผลเล็กลงเหลือเพียง 4-5 เซนติเมตร ฟื้นตัวเร็ว ลดการนอนโรงพยาบาล และกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติใน 1 เดือน
นายแพทย์ชวกร เหลี่ยมไพรบูรณ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยมีลิ้นหัวใจทั้งหมด 4 ลิ้น ประกอบด้วย Tricuspid valve, Pulmonary valve, Mitral valve และ Aortic valve ทําหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนเลือดใน 4 ห้องหัวใจ ให้เป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้องและไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ หากลิ้นหัวใจชำรุด เสื่อมสภาพหรือมีโรคที่รบกวนการทํางานของลิ้นหัวใจจนเกิดความผิดปกติ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทํางานหนักจนเกิดภาวะต่าง ๆ เช่น หัวใจโต เลือดคั่งในหัวใจหรือปอด และอาจรุนแรงจนถึงชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้
ความผิดปกติของลิ้นหัวใจมีสาเหตุ ดังนี้
- โรคลิ้นหัวใจผิดปกติจากความเสื่อม (Degenerative Valve Disease) มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจ
- โรคลิ้นหัวใจรูมาติก (Rheumatic Heart Disease) เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ ทําให้เกิดไข้รูมาติก ซึ่งมีผลทําลายลิ้นหัวใจของผู้ป่วยในระยะยาว มักจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติของหัวใจหลังจากเป็นไข้รูมาติกประมาณ 5-10 ปี
- โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Infective Endocarditis) เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือดและเชื้อโรคไปเกาะกินลิ้นหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยจะเกิดอาการแบบเฉียบพลันและหัวใจวายรุนแรง
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) อาจส่งผลให้เกินลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วตามมาได้
- ความพิการของลิ้นหัวใจแต่กําเนิด (Congenital Valve Disease) มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา ทำให้การเจริญเติบโตของลิ้นหัวใจผิดปกติ
ภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือลิ้นหัวใจตีบและลิ้นหัวใจรั่ว โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับลิ้นหัวใจทั้ง 4 ลิ้น ซึ่งผู้ป่วยลิ้นหัวใจมักจะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเท้าบวม จำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา หากอาการยังไม่รุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาและนัดติดตามอาการเป็นระยะ แต่ถ้าอาการรุนแรงก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจหรือผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจหรือการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบวิธีมาตรฐานคือการเปิดแผลผ่าตัดกึ่งกลางหน้าอก (Median sternotomy) พร้อมกับตัดกระดูกหน้าอกเพื่อเข้าไปแก้ไขลิ้นหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยมีแผลยาวตั้งแต่คอหอยถึงลิ้นปี่ และต้องใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3 เดือน จนกว่ากระดูกหน้าอกจะเชื่อมต่อกันจึงจะกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดลิ้นหัวใจร่วมกับหัตถการอื่น ๆ แต่ปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก หรือ MIS (Minimally Invasive Surgery) ด้วยการส่องกล้อง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งกับการซ่อมลิ้นหัวใจและเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยจะช่วยลดการเสียเลือดขณะผ่าตัด เปิดแผลขนาดเล็ก ไม่ต้องตัดกระดูกหน้าอก ลดจำนวนการนอนโรงพยาบาล ฟื้นตัวเร็ว กลับไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในเวลา 1 เดือนหรือ 1 เดือนครึ่ง ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย
การผ่าตัดแบบแผลเล็กสามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมก็ตาม โดยจะมีแผลผ่าตัดหลักความยาว 4 – 5 เซนติเมตร ซ่อนอยู่ใต้ราวนมหรือกลางหน้าอก ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลิ้นหัวใจที่ต้องการเปลี่ยนหรือซ่อม แผลเจาะรูบริเวณข้างหน้าอกความกว้าง 0.5 เซนติเมตร จำนวน 2 แผล และมีแผลที่ขาหนีบ 1 แผล ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อใส่สายเข้าไปช่วยการทำงานของหัวใจขณะผ่าตัด
นอกจากนี้ เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็กยังสามารถใช้ได้กับการผ่าตัดแก้ไขปัญหารูรั่วที่ผนังหัวใจได้ด้วย รวมถึงยังสามารถผ่าตัดแก้ไขลิ้นหัวใจที่มีปัญหาพร้อมกันได้ 2 ลิ้น แต่ข้อจำกัดในการผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยการส่องกล้อง คือไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่ต้องทำหัตถการอื่นร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดลิ้นหัวใจร่วมกับการทำบายพาสหัวใจ หรือการผ่าตัดลิ้นหัวใจร่วมกับการเปลี่ยนเส้นเลือดแดงใหญ่ ดังนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ชัดเจนและอยู่ภายใต้การประเมินของแพทย์เฉพาะทาง
- Readers Rating
- Rated 3.9 stars
3.9 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating