ฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดสมองด้วยหุ่นยนต์ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดสมองด้วยหุ่นยนต์

Share:

ก้าวข้ามขีดจำกัดการฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดสมองด้วย robotic assisted gait training เพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย โดยแบ่งออกเป็น หลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ จนประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง หลอดเลือดสมองอุดตัน เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวขึ้นจากบริเวณอื่นไหลไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมองและมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง ส่วน หลอดเลือดสมองแตก เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางและมีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดโป่งพองและแตก หรือมีไขมันสะสมในหลอดเลือดจนทำให้หลอดเลือดปริแตก

นายแพทย์พีรวุฒิ ตันติสุวณิชย์กุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมองจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองขาดเลือดและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น มีอาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขนขาครึ่งซีกของร่างกาย หรือใบหน้า พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว กลืนลำบาก ปวดหรือเวียนศีรษะทันทีทันใด มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นภาพครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวแบบฉับพลัน เดินเซและเสียการทรงตัว เป็นต้น ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นต้องรีบพบแพทย์ทันที เพราะเป็นโรคที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต หรืออาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตตัวเอง

“ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองหลายรายเมื่อพ้นขีดอันตรายแล้วแต่ยังต้องอยู่กับภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่ในช่วง 3 – 6 เดือนแรก นับเป็น Golden Period หรือช่วงเวลาทองที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้น การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างถูกต้อง เหมาะสมและทันท่วงที จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดในทั้งด้านร่างกายและจิตใจ” นายแพทย์พีรวุฒิกล่าว

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี ได้นำเทคโนโลยีการฝึกกายภาพบำบัดด้วยหุ่นยนต์ (robotic assisted gait training) เข้ามาใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพื่อเติมเต็มการทำกายภาพบำบัดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบด้วย Lokomat gait training หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการทรงตัวและการยืนเดินจากโรคหลอดเลือดสมอง โดยตัวหุ่นยนต์มีข้อต่อบริเวณเข่าและสะโพกที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ได้อย่างใกล้เคียงธรรมชาติ ฝึกผู้ป่วยเกมส์การฝึกที่หลากหลาย ทำให้ผู้ป่วยเพลิดเพลินไปกับการฝึก และสามารถรับรู้ถึงพัฒนาการระหว่างการฝึกของตัวเอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการฝึกต่อเรื่อย ๆ C-Mill machine หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูการเดินในสภาพจำลองเสมือนจริง เช่น การเดินในสถานที่ต่างๆ การหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เพื่อให้ผู้ป่วยเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์จริง ฟื้นฟูการทรงตัวและการก้าวเดิน ปรับจังหวะการก้าวเดินให้เหมาะสม โดยฝึกบนพื้นฐานการเล่นเกมส์และสถานการณ์จำลองที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ผู้ป่วยไม่เบื่อ ลดความกดดันและความเครียดขณะฝึก อีกทั้งยังช่วยให้มีกำลังใจในการฝึกอย่างต่อเนื่องจนถึงเป้าหมาย ซึ่งจะเน้นที่การรับรู้ระยะและทิศทาง (visuospatial) การทำกิจกรรมที่มีความจำเพาะ (task-specific) การมีสมาธิในการทำกิจกรรมที่ซับซ้อน (attention) และการตัดสินใจในการทำกิจกรรมหรือบริหารงาน (executive function) KEEOGO หุ่นยนต์ช่วยเดินที่จะช่วยให้ผู้ป่วยก้าวเดินอย่างมั่นใจและเดินได้ไกลขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ก้าวข้ามขีดจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันจากปัญหาการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีอาการปวด ทำให้สามารถเดินได้ไกลและนานขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการขึ้น – ลงบันได พื้นต่างระดับ การนั่งยอง ๆ และลุกขึ้นจากพื้นได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ โปรแกรมฟื้นฟูจะถูกออกแบบโดยแพทย์เฉพาะทาง และออกแบบเฉพาะบุคคลเพื่อให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมให้เหมาะสมกับพัฒนาการของผู้ป่วยระหว่างฝึก จึงส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด นายแพทย์พีรวุฒิ ตันติสุวณิชย์กุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 2316 , 2332

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (7 )
  • Your Rating