ปวดไหล่ ยกแขนไม่สุด อาจเป็นอาการของข้อไหล่ติด

บทความสุขภาพ

ปวดไหล่ยกแขนไม่สุดจากโรคข้อไหล่ติด รักษายังไงดี?

Share:

ปวดไหล่ เดี๋ยวก็หายจริงหรือ?

อาการปวดไหล่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากออฟฟิศซินโดรม กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีกขาดจากการยกของหนักหรือยกของผิดท่า รวมถึงการใช้ไหล่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หากมีอาการปวดไหล่แล้วไม่รีบรักษาหรือยังใช้งานข้อไหล่หนักซ้ำ ๆ จนมีอาการปวดไหล่เรื้อรัง ขยับแขนได้น้อยลง จนกระทั่งยกแขนขึ้นได้ไม่สุด นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคข้อไหล่ติด

ข้อไหล่ติดคืออะไร

ข้อไหล่ติด เป็นอาการที่เกิดจากเนื้อเยื่อถุงหุ้มข้อไหล่เกิดการอักเสบหรือมีความผิดปกติ จนมีอาการปวดไหล่ ไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาการปวดไหล่เหล่านี้อาจเป็นนานต่อเนื่องหลายปี และข้อไหล่ฟื้นตัวแบบไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากเกิดอาการปวดไหล่ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

รู้อาการของโรคข้อไหล่ติด

โรคข้อไหล่ติด พบมากในช่วงอายุ 50 – 60 ปี และผู้หญิงมักจะมีอาการของโรคมากกว่าผู้ชาย ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคในทางทฤษฎีได้แบ่งเป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ 

  1. Primary stiffness to shoulder ข้อไหล่ติดที่เกิดขึ้นเอง สาเหตุไม่ชัดเจน อาจสัมพันธ์กับโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ และ (โรคอื่น ๆ ที่ทำให้เอ็นข้อไหล่อักเสบจนร่างกายสร้างพังผืดขึ้น )
  2. Second stiffness to shoulder ชนิดที่มีสาเหตุแน่ชัด โดยมักเกิดจากการบาดเจ็บบริเวณข้อไหล่ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อเอ็นข้อไหล่ หมอนรองข้อไหล่ และการบาดเจ็บโดยรอบข้อไหล่ต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดโรคไหล่ติดตามมา

อาการข้อไหล่ติดแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามการดำเนินโรคดังนี้

  1. ระยะอักเสบ เป็นระยะที่รู้สึกปวดไหล่มากที่สุด อาการปวดจะรุนแรงขึ้นเมื่อขยับหรือเคลื่อนไหวบริเวณข้อไหล่จากภาวะอักเสบและปวดมากในเวลากลางคืน โดยจะมีอาการปวดไหล่เช่นนี้ประมาณ 2 – 9 เดือน 
  2. ระยะยึดติด อาการปวดไหล่เริ่มลดลง แต่เวลาเคลื่อนไหวหรือขยับหัวไหล่จะมีอาการเจ็บแปลบและยังไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระยะนี้ใช้เวลา 4 – 12 เดือน
  3. ระยะคลายตัว เป็นระยะที่ร่างกายเริ่มฟื้นตัวและสามารถขยับข้อไหล่ได้มากขึ้น อาการปวดไหล่น้อยลง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปีเป็นอย่างน้อย และมีโอกาสสูงที่การฟื้นตัวของข้อไหล่จะไม่สมบูรณ์ดังเดิม

แม้ร่างกายจะฟื้นฟูและรักษาอาการไหล่ติดเองได้ แต่อาจต้องอาศัยระยะเวลานานถึง 5 ปี และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นผู้ที่มีอาการไหล่ติดจึงควรพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ต้องทรมานจากอาการปวดและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันโดยเร็ว

เราจะรักษาอาการข้อไหล่ติดได้อย่างไร

อาการข้อไหล่ติดแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องอดทนและมีวินัย โดยแพทย์จะใช้การรักษาตามอาการดังนี้

  1. ยาแก้ปวดและลดอักเสบ หากอาการของโรคอยู่ในระยะแรกซึ่งจะมีอาการปวดไหล่จากภาวะอักเสบ แพทย์จะรักษาด้วยยาแก้ปวดและยาลดอักเสบเพื่อบรรเทาอาการ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรลดหรืองดการขยับแขนข้างที่ข้อไหล่ติด เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดไหล่มากยิ่งขึ้น
  2. กายภาพบำบัด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดหลังอาการอักเสบบรรเทาลง เพื่อลดอาการบาดเจ็บและฟื้นฟูข้อไหล่ให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ผ่าตัดส่องกล้อง หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น  หรือมีข้อไหล่ติดจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นในข้อไหล่ แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดเนื้อเยื่อพังผืด และซ่อมแซมเส้นเอ็นตามข้อบ่งชี้ จากนั้นผู้ป่วยจะต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ข้อไหล่ฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ

การป้องกันโรคข้อไหล่ติด

แม้จะไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคข้อไหล่ติดได้อย่างชัดเจน แต่การป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บหรืออักเสบบริเวณข้อไหล่ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้ นอกจากนี้ควรออกกำลังกายด้วยท่าบริหารข้อไหล่เป็นประจำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวณข้อไหล่

ทั้งนี้ หากมีอาการปวดไหล่หรือข้อไหล่ติดอย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะถ้าพบแพทย์เร็วก็มีโอกาสหายเร็วขึ้นและไม่ต้องทรมานกับความเจ็บปวด สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อไหล่ติด ปวดไหล่หรืออาการอื่น ๆ เกี่ยวกับกระดูกและข้อ สามารถปรึกษาและ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 2298

  • Readers Rating
  • Rated 4.9 stars
    4.9 / 5 (5 )
  • Your Rating