ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) คือ ภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ อาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป จนทำให้ประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง และอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งออกเป็นกี่ประเภท
- Supraventricular Tachycardia เป็นโรคหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ
- Atrial Fibrillation หัวใจห้องบนเต้นไม่เป็นจังหวะ เต้นพลิ้วและเร็วผิดปกติ โดยมากพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดหลอดเลือดสมองได้
- Ventricular Tachycardia เป็นโรคหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ ไม่เป็นจังหวะทำให้หมดสติและเสียชีวิตกะทันหัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- Ventricular Fibrillation เป็นภาวะหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วไม่เป็นจังหวะ ทำให้หมดสติและเสียชีวิตกะทันหัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- Heart Block หัวใจจะเต้นช้าผิดจังหวะ ที่เกิดจากหัวใจห้องบนกับห้องล่างเต้นไม่สัมพันธ์กัน และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
- Bradycardia เป็นโรคหัวใจเต้นช้าผิดปกติ
สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัน โดยมีสาเหตุแตกต่างกัน ดังนี้
- หัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคที่มีทางลัดกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหัวใจหนา ลิ้นหัวใจรั่ว หรือผนังหัวใจรั่ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะแสดงอาการโรคหัวใจผิดจังหวะเมื่อโตขึ้นหรือในวัยทำงาน
- ความผิดปกติทางร่างกายที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด
- ความผิดปกติอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ
- การรับประทานอาหารบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น กาเฟอีน แอลกอฮอล์
- การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน ยารักษาโรคหอบหืด
- ความเครียด และความวิตกกังวล
อันตรายของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อันตรายของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นอยู่กับชนิดและระดับความรุนแรง รวมถึงโรคร่วมและปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ทำให้มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตแบบกระทันหัน หัวใจล้มเหลว หน้ามืด หมดสติ หรือเกิดลิ่มเลือดไปอุดสมองได้
อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอะไรบ้าง
โดยปกติแล้ว อัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ประมาณ 50-100 ครั้งต่อนาที หากมีอัตราการเต้นช้าหรือเร็วกว่านี้ก็จะเข้าข่ายภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ : จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น วูบ หน้ามืด เป็นลม หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแบบกะทันหัน
- อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ : จะทำให้มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย และเสียชีวิตเฉียบพลัน
หากมีอาการข้างต้นเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือเกิดขึ้นบ่อย ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
วิธีการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ในการตรวจรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็วนั้น สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับประเภทของความผิดปกติและระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือเทคโนโลยีการสวนและจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจตรงจุดที่มีปัญหา ซึ่งมีโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยละ 95 – 98 โดยไม่ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต
ที่โรงพยาบาลเวชธานี มีเทคโนโลยีการสวนและจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ 2 แบบ คือ
- Electrophysiology Study หรือการตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ แสดงผลเป็นกราฟ 2 มิติ เพื่อตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าหัวใจและทางเดินไฟฟ้าหัวใจ เพื่อค้นหาสาเหตุและตำแหน่งที่ผิดปกติ ก่อนจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง สามารถให้การรักษาได้ต่อเนื่องทันทีหลังการตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
- 3D System เป็นการหาตำแหน่งจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ แสดงผลแบบภาพ 3 มิติแบบเรียลไทม์ และใช้สายสวนจี้ตรงจุดที่ผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง สามารถใช้รักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่มีจุดกำเนิดที่เป็นบริเวณกว้างหรือซับซ้อนได้
การรักษาด้วยเทคโนโลยีการสวนและจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสูงถึงร้อยละ 95 – 98 โดยไม่ต้องกินยาไปตลอดชีวิต สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้แบบไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะอีกต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี หรือโทร. 02-734-0000 ต่อ 5300
- Readers Rating
- Rated 4.4 stars
4.4 / 5 (Reviewers) - Outstanding
- Your Rating