คนท้องกินเจอย่างไร ให้ดีต่อลูกน้อย - Vejthani Hospital

บทความสุขภาพ

คนท้องกินเจอย่างไร ให้ดีต่อลูกน้อย

Share:

อีกไม่กี่วันจะเข้าสู่เทศกาลถือศีลกินเจแล้ว หลายคนอาจจะเริ่มเตรียมวัตุดิบหรือจัดหาเมนูอาหารสำหรับการกินเจตลอด 9 วัน แต่ในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการกินเจมากขึ้น เพราะเมนูอาหารบางประเภท อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้

นายแพทย์ภูมิพร อัจฉรารัตนโสภณ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างครบถ้วนและเพียงพอ เพื่อที่จะส่งต่อสารอาหารเหล่านั้นสู่ทารก ในการสร้างเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเซลล์ระบบประสาทและสมอง

แต่สำหรับเมนูอาหารที่วางขายกันในเทศกาลกินเจ ส่วนมากมักเป็นอาหารประเภททอด และน้ำมันเยอะ อาจทำให้ร่างกายได้รับไขมันมากเกินไป จนอาจส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดสูง ไม่ว่าจะเป็นระดับคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้ง ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ตั้งครรภ์อีกด้วย เพราะฉะนั้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์จะร่วมเทศกาล ก็ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์เป็นหลักว่าควรระมัดระวังเมนูอาหารประเภทไหนเป็นพิเศษ

  • ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะ แต่ในช่วงนี้คุณแม่จะกินได้น้อยลงเพราะมีอาการแพ้ท้อง ดังนั้นหากกินอาหารเจที่เป็นของทอดของมัน อาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพ้ท้องรุนแรงและทำให้ร่างกายไม่อยากอาหาร ก็จะยิ่งส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
  • ไตรมาสสองและสามของการตั้งครรภ์ จะเป็นช่วงที่คุณแม่มีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้เกิดการเผาผลาญอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลผิดปกติได้ง่าย และอาจมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก เพราะคาร์โบไฮเดรตจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล แต่อาหารเจส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยแป้ง เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ขนมปัง
  • นอกจากนี้ ไตรมาสสองและสามของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโต ต้องการสารอาหารไปเลี้ยงอย่างพอเพียง คุณแม่จึงจำเป็นต้องได้รับโปรตีนวันละ 1 – 1.1 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวันตลอดการตั้งครรภ์ แต่การกินเจทำให้ไม่สามารถกินเนื้อสัตว์ที่ให้พลังงานเพียงพอได้ ดังนั้นคุณแม่ต้องเสริมโปรตีนจากถั่วและธัญพืชต่าง ๆ ในปริมาณมากกว่าปกติอีกเท่าตัว รวมถึงการดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนนมวัวในปริมาณที่มากขึ้น เนื่องจากแคลเซียมที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับจะมีปริมาณ 1000-1200 มิลลิกรัมต่อวัน

สำหรับเทศกาลกินเจ จะต้องเน้นผักมากขึ้น จึงอยากแนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ เน้นผักใบเขียวที่มีโฟลิค ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างเซลล์ทารก โดยเฉพาะเซลล์ระบบประสาทและสมองเช่น บล็อคโคลี่ ผักบุ้ง คะน้า และไม่ควรรับประทานกะหล่ำปลีและกะหล่ำดอกในปริมาณมาก เพราะเป็นผักที่มีแก๊สสูง อาจทำให้ท้องอืดได้ง่าย

นายแพทย์ภูมิพร กล่าว

การกินเจอาจจะไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์เท่าไหร่นัก หากอยากเลี่ยงเนื้อสัตว์แนะนำให้เป็นมังสวิรัติแทน เพราะยังสามารถกินนม เนย และไข่ได้ ซึ่งให้ปริมาณโปรตีนและพลังงานมากกว่า แต่หากอยากร่วมเทศกาลจริง ๆ ก็ควรระมัดระวัง หรือกินในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์มากที่สุด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 3200 , 3204

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (5 )
  • Your Rating