หายจากโควิดก็ใช่ว่าชีวิตจะปกติ เพราะอาจต้องเผชิญกับภาวะ Long COVID ภัยเงียบที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ยังหาสาเหตุการเกิดไม่ได้ แต่รักษาให้หายขาดได้หากรีบพบแพทย์และดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม
แม้ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ COVID-19 ร่างกายจะค่อย ๆ ฟื้นตัวจนดีขึ้น แต่ยังมีผู้ป่วยอีกประมาณร้อยละ 40 ที่ยังมีอาการไม่พึงประสงค์หลงเหลืออยู่แม้จะหายป่วยจากการติดเชื้อไปมากกว่า 4 สัปดาห์แล้ว หรือที่เรียกว่าภาวะ Long COVID ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก ปอดอักเสบรุนแรง มีโรคประจำตัวหลายโรค พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และพบในกลุ่มผู้ป่วยอายุเยอะมากกว่าอายุน้อย
นายแพทย์ธนกร ทรรศนียศิลป์ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ภาวะ Long COVID จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในบางรายอาจไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาการหอบเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย อ่อนล้า ไอเรื้อรัง รู้สึกสมองไม่ปลอดโปร่ง ความรู้สึกนึกคิดช้าลง สมาธิจดจ่อสั้นลง ปวดศีรษะ ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีผื่นตามตัว มีปัญหาด้านการนอนหลับ อารมณ์แปรปรวนง่าย ซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล ประจำเดือนมาไม่ปกติ การได้กลิ่นและรับรสชาติผิดปกติ รู้สึกมีไข้ ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการมากกว่าหนึ่งอย่างและมีระยะเวลาในการเกิดที่แตกต่างกัน
“ภาวะ Long COVID เป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่หายป่วยจากโควิด ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของภาวะ Long COVID และยังไม่มีคำนิยาม รวมถึงระยะเวลาในการดำเนินโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นผลจากการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจากการติดเชื้อ ร่วมกับภาวะจิตใจที่ผิดปกติหลังการติดเชื้อ ดังนั้น ผู้ป่วยโควิดแม้จะหายดีแล้วก็ยังจำเป็นต้องสังเกตุอาการผิดปกติของตัวเองอย่างต่อเนื่อง หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที ซึ่งปัจจุบันมีโปรแกรมสำหรับตรวจวัดสมรรถภาพปอด กล้ามเนื้อ หัวใจและหลอดเลือดหลังหายจากโควิด หากพบว่ามีความผิดปกติแพทย์จะออกแบบโปรแกรมกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อฟื้นฟูการทำงานของปอด กล้ามเนื้อ หัวใจและหลอดเลือดให้กลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ” นายแพทย์ธนกรกล่าว
สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ COVID-19 ด้วยการฉีดวัคซีนโควิด ปฏิบัติตัวตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงไปในที่ที่มีคนแอดอัด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือทุกครั้งหลังหยิบจับสิ่งของ ส่วนผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิดแล้วควรพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงภาวะเครียด รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการ เนื่องจากภาวะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2200
- Readers Rating
- Rated 4.4 stars
4.4 / 5 (Reviewers) - Outstanding
- Your Rating