หยุดทรมานจากอาการกลืนลำบาก ด้วยการตรวจ Manometry หาที่สาเหตุเพื่อการรักษาที่ตรงจุด

บทความสุขภาพ

หยุดทรมานจากอาการกลืนลำบาก

Share:

การได้รับประทานอาหารรสชาติอร่อย ถือว่าเป็นความสุขของหลาย ๆ คน แต่หากมีอาการกลืนลำบากหลังรับประทาน ก็คงเกิดความทุกข์ทรมานไม่น้อย ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะหลอดอาหารตีบ หากได้รับการรักษาอย่างตรงจุด ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้

นายแพทย์สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า อาการกลืนลำบากหรือกลืนติด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มโรคใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. สาเหตุที่รุนแรง เช่น เนื้องอกในหลอดอาหาร มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป อาการจะค่อนข้างรุนแรง และน้ำหนักจะลดลงเรื่อย ๆ
  2. สาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น หลอดอาหารตีบที่เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่คลายตัว ไม่มีสาเหตุการเกิดแน่ชัด อาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป กลไกการทำงานของหลอดอาหารจะเริ่มบีบตัวจากส่วนบนลงล่าง โดยตำแหน่งล่างสุดของหลอดอาหารก่อนที่จะต่อเข้ากับกระเพาะอาหาร จะมีหูรูดหลอดอาหาร ซึ่งทำหน้าที่คล้ายประตูกั้นเขื่อน เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา ดังนั้น เมื่ออาหารถูกบีบลงมาจนถึงส่วนนี้ หูรูดถึงจะเปิดเพื่อให้อาหารลงไปในกระเพาะ แต่ในกลุ่มที่มีปัญหากล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่คลายตัว อาหารจะไม่สามารถลงไปในกระเพาะได้ จึงค้างอยู่ในหลอดอาหารแทน

อาการแสดงของภาวะหลอดอาหารตีบ คือ กลืนลำบาก กลืนติด โดยจะเริ่มจากกลืนลำบากเมื่อรับประทานของแข็ง ต่อมาจะเริ่มกลืนลำบากเมื่อรับประทานของเหลวด้วยเช่นกัน ร้ายแรงที่สุดคือไม่สามารถกลืนอาหารหรือน้ำได้เลย โดยจะอาเจียนทุกครั้งที่รับประทานอาหาร ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

การวินิจฉัยภาวะหลอดอาหารตีบ ไม่สามารถยืนยันได้จากการซักประวัติอาการเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตรวจส่องกล้องดูหลอดอาหาร, ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, และตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร หรือ Manometry ซึ่งเป็นเกณฑ์สำคัญในการวินิจฉัย โดยจะแสดงผลเป็นกราฟให้เห็นว่าหลอดอาหารบีบตัวมากน้อยเพียงไร และหูรูดมีการทำงานปกติหรือไม่

“ ถึงแม้ว่าภาวะหลอดตีบที่เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่คลายตัว จะไม่ใช่ภาวะที่รุนแรง แต่สุดท้ายผู้ป่วยจะมีอาการหนักขึ้นจนกระทบกับคุณภาพชีวิตและความสุขในการรับประทาน จึงควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ” นายแพทย์สุขประเสริฐกล่าว

การรักษาภาวะหลอดอาหารตีบที่เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่คลายตัว แบ่งเป็น 4 วิธี ได้แก่

  1. การฉีดโบทอกซ์ เพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัว แต่มีฤทธิ์อยู่ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น
  2. การส่องกล้องเพื่อเอาบอลลูนไปขยายหลอดอาหาร แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่นหลอดอาหารฉีกขาด หรือทะลุ
  3. การส่องกล้องเพื่อเจาะอุโมงค์ในหลอดอาหารลงไปที่ชั้นกล้ามเนื้อ จากนั้นใช้อุปกรณ์กรีดกล้ามเนื้อที่หดรัดตัวให้ขยายออก ซึ่งได้ผลการรักษาที่ถาวรมากกว่า ผลการรักษาใกล้เคียงการผ่าตัด แต่เป็นการรักษาด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร ไม่มีแผลผ่าตัด และฟื้นตัวเร็ว
  4. การผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง โดยใส่เครื่องมือเข้าไปที่ตำแหน่งกล้ามเนื้อหูรูด จากนั้นใช้อุปกรณ์กรีดกล้ามเนื้อที่หดรัดตัวให้ขยายออก

การรักษากล้ามเนื้อหูรูดแบบส่องกล้องและผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อกรีดกล้ามเนื้อที่หดรัดตัวให้ขยายออก จะให้ผลการรักษาที่ถาวรเหมือนกัน โอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อยกว่า 10% เหมือนกัน ต่างกันที่การรักษาแบบส่องกล้อง จะไม่มีแผลที่ร่างกาย การพักฟื้นสั้นกว่า ส่วนการรักษาแบบผ่าตัดส่องกล้องจะมีแผลผ่าตัดเป็นรูเล็ก ๆ ระยะเวลาการพักฟื้นจึงมากกว่า

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 2960

  • Readers Rating
  • Rated 4.4 stars
    4.4 / 5 (16 )
  • Your Rating