7 โรคจิตเวชที่พบบ่อย - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

7 โรคจิตเวชที่พบบ่อย

Share:

โรคจิตเวช คือกลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่าง ๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองป่วย หรือบางคนรู้แต่ไม่มาพบแพทย์ ทำให้อาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต โดยโรคจิตเวชที่พบบ่อยการสังเกตอาการคนรอบข้างรวมถึงตัวเองเกี่ยวกับโรคจิตเวชเป็นเรื่องสำคัญ หากพบความผิดปกติหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษาก่อนอาการรุนแรง

โรคซึมเศร้า (Depression) ผู้ป่วยจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าหรือเป็นภาระของผู้อื่น สมาธิแย่ลง หลงลืมง่าย เหม่อลอย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดหัว บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัวและไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการ

โรคแพนิก (Panic Disorder) เป็นโรคตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อสิ่งกระตุ้น จนเกิดอาการหายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ จุกแน่น คล้ายจะเป็นลมหรือเหมือนกับจะถึงชีวิต ซึ่งการเกิดครั้งแรกมักจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีเรื่องกดดันหรือถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว และจะมีอาการอีกเรื่อย ๆ เมื่อเจอกับสถานการณ์เดิม ๆ โดยแต่ละครั้งจะมีอาการประมาณ 10 – 20 นาที และหายเป็นปกติ แต่หากมีอาการแพนิกเกิดขึ้นแล้วมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการแพนิกเกิดขึ้นอีก คุมตัวเองไม่ได้ หมกมุ่น พฤติกรรมเปลี่ยนอย่างชัดเจน ไม่กล้าไปไหนคนเดียว แนะนำควรรีบพบจิตแพทย์

โรคจิตเภท (Schizophrenia) ผู้ป่วยจะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน โดยจะแสดงออกด้วยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว หลงผิดหรือหวาดระแวง หากมีอาการนานเกิน 6 เดือนแล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้การรักษายากขึ้นและผลการรักษาไม่ดี เนื่องจากจิตเภทเป็นโรคเรื้อรังยิ่งมารักษาช้าอาการจะยิ่งมากและรักษายากขึ้นเรื่อยๆ

โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเป็นผลมาจากที่ผู้ป่วยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหรือรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้เกิดความกลัวและกลัวว่าจะเกิดขึ้นซ้ำ จนมีอาการระแวง หวาดกลัว หรือตกใจง่าย ดังนั้นควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างซึมเศร้าและอารมณ์ดีเกินปกติหรือแมเนีย โดยในช่วงซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวังเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นแทบทุกวันและเป็นส่วนใหญ่ของวัน รวมถึงอาการจะคงอยู่นานหลายเดือนแล้วหายไปเหมือนคนปกติก่อนจะเข้าสู่ช่วงอารมณ์ดีเกินปกติ เช่น อารมณ์คึกคัก กระฉับกระเฉง อยากทำหลายอย่าง พลังงานเยอะ นอนน้อย ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เช่น อยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที หากมีคนขัดใจจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย เป็นต้น

โรคสมองเสื่อม (Dementia) คือภาวะการทำงานของสมองแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยจะไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หลงลืมง่าย หรือเล่าเรื่องในอดีตได้แต่ไม่สามารถจำกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ พบมากในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มีทั้งแบบรักษาหายและไม่หายขาด โดยกลุ่มที่รักษาหายขาดได้ เช่น น้ำคั่งในโพรงสมอง เนื้องอก เลือดออกในสมอง โรคของต่อมไทรอยด์ ขาดวิตามินบี 12 ติดเชื้อซิฟิลิสในสมอง การเกิดภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง หรือการใช้ยาบางชนิด นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีอาการหลงลืมง่าย (Pseudodementia) ซึ่งสามารถหายได้เมื่อรักษาโรคซึมเศร้าหาย ส่วนในกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคที่พบบ่อยคืออัลซไฮเมอร์ หลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น

โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias) คืออาการหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรงหรือสถานการณ์บางอย่าง เช่น กลัวความสูง กลัวความมืด กลัวสัตว์บางชนิด กลัวเลือด ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะเป็นไปในทางหลีกเลี่ยง และหนีการพบเจอสิ่งนั้น ๆ อย่างทันทีทันใด ในรายที่รุนแรงอาจหวาดกลัวแม้เป็นเพียงการเอ่ยถึงหรือพบเจอสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 2200

  • Readers Rating
  • Rated 3.8 stars
    3.8 / 5 (51 )
  • Your Rating