ปวดไหล่เพราะเอ็นหมุนข้อไหล่อักเสบ…อย่าปล่อยไว้ เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและนำไปสู่การรักษาที่ซับซ้อนขึ้น
พฤติกรรมการใช้งานไหล่ซ้ำ ๆ โดยเฉพาะในท่าทางที่ต้องยกแขนสูงต่อเนื่อง เช่น ทาสีผนัง เช็ดกระจก ตากผ้า ตัดกิ่งไม้ รวมทั้งการแบกหามหรือยกของหนัก ตลอดจนในกลุ่มนักกีฬาที่ต้องยกแขนสูงซ้ำ ๆ อย่างการเล่นบาสเกตบอล แบดมินตัน รวมถึงว่ายน้ำ และอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อข้อไหล่ก็มีโอกาสเกิดเอ็นหมุนข้อไหล่อักเสบได้เช่นกัน
นายแพทย์รัฐภูมิ วัชโรภาส ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ – เวชศาสตร์การกีฬาและโรคข้อไหล่และข้อเข่า โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า เอ็นหมุนรอบข้อไหล่ (Rotator cuff)จะประกอบด้วยกลุ่มเส้นเอ็น และ กล้ามเนื้อ จำนวน 4 เส้น ที่ต่อเนื่องมาจากกล้ามเนื้อสะบักและยึดเกาะกับกระดูกต้นแขนส่วนบน ทำหน้าที่ช่วยในการขยับไหล่ ไม่ว่าจะเป็นการยกแขน กางแขน หรือหมุนไหล่ แต่การใช้งานไหล่มากเกินไปหรือใช้งานในท่าเดิมซ้ำ ๆ อาจทำให้เอ็นหมุนข้อไหล่อักเสบและฉีกขาดได้ โดยเฉพะหากเกิดอุบัติเหตุหรือมีแรงปะทะบริเวณข้อไหล่รุนแรง
“หากเอ็นหมุนข้อไหล่อักเสบหรือฉีกขาด จะทำให้มีอาการปวดไหล่และร้าวไปบริเวณต้นแขนเมื่อยกหรือขยับไหล่ ในบางรายอาจมีอาการข้อไหล่ขัด ขยับไหล่ลำบากหรือไหล่บวมร่วมด้วย ซึ่งอาการเริ่มแรกอาจไม่รุนแรงมาก แต่ถ้ายังใช้งานต่อไปเรื่อย ๆ อาการปวดจะมากขึ้น โดยมักจะปวดในช่วงกลางคืนหรือปวดตอนพักการใช้งานแขน แขนล้าไม่มีแรง และเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้น้อยลง ตลอดจนทำกิจกรรมบางอย่างได้ยากลำบาก เช่น สระผม เกาหลัง ติดกระดุมหรือรูดซิบด้านหลัง สร้างความทรมานและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก” นายแพทย์รัฐภูมิกล่าว
สำหรับการรักษาอาการเอ็นหมุนข้อไหล่อักเสบหรือฉีกขาด เพื่อลดอาการปวดและให้ผู้ป่วยกลับไปใช้งานข้อไหล่ได้ แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือการรักษาโดยไม่ผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือฉีดยาสเตียรอยด์รอบเส้นเอ็นที่อักเสบ เพื่อลดการอักเสบ ปวด บวม ร่วมกับการกายภาพบำบัด พักและปรับเปลี่ยนการใช้งานข้อไหล่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้อาการปวดค่อย ๆ ลดลง การใช้งานไหล่ค่อย ๆ ดีขึ้นจนกลับไปใช้งานได้ตามปกติ แต่อาจใช้เวลาในการรักษานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แต่ในรายที่อาการปวดรุนแรง เส้นเอ็นฉีกขาดรุนแรง หรือรักษาด้วยวิธีข้างต้นเป็นเวลานานแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด โดยปัจจุบันการผ่าตัดเอ็นหมุนข้อไหล่จะใช้การส่องกล้องเข้าไปเย็บซ่อมเส้นเอ็น ซึ่งจะทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว กลับไปใช้งานไหล่ได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติเร็วขึ้น
ทั้งนี้ นายแพทย์รัฐภูมิยังแนะนำว่า หากมีอาการปวดไหล่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้อาการรุนแรงจนสร้างความทรมานต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังทำให้รักษามีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2298 , 2299
- Readers Rating
- Rated 4.2 stars
4.2 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating