ปวดต้นคอเรื้อรังอาจพังไปถึงกระดูกสันหลัง - Vejthani Hospital

บทความสุขภาพ

ปวดต้นคอเรื้อรังอาจพังไปถึงกระดูกสันหลัง

Share:

ปวดต้นคอเรื้อรัง! ต้นเหตุของหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทเสี่ยงกล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต

ปวดต้นคอเรื้อรังเป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เล่นกีฬา หรือการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป โดยอาการปวดต้นคอเรื้อรังส่วนมากมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมหรือการอยู่ในท่าทางเดิม ๆ ซ้ำ ๆ หรืออยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ หดรั้งหรือเป็นก้อนตึง รวมถึงมีอาการปวดจนรบกวนคุณภาพชีวิต

นายแพทย์เอกพล ลาภอำนวยผล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า การปล่อยให้เกิดอาการปวดคอแบบเรื้อรังนาน ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือไม่รับการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงหรือนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลังคด หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

“คนที่มีอาการปวดคอหรือปวดกล้ามเนื้อในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มักจะเลือกไปนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยได้แค่ชั่วคราว เดี๋ยวอาการก็จะกลับมาเป็นใหม่ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่ใช่แค่กล้ามเนื้ออักเสบหรือบาดเจ็บ แต่เกิดจากปัญหากระดูกสันหลังผิดปกติ การนวดผิดวิธีอาจทำให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นให้ลองสังเกตตัวเองดูว่าหากมีอาการปวดแล้วรับประทานยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบ และลดการใช้งานกล้ามเนื้อในส่วนที่ปวดแล้ว แต่อาการปวดยังไม่ดีขึ้นภายใน 12 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดร้าวลงแขน มีอาการชา หรืออ่อนแรง ให้รีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพราะมีโอกาสจะเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังมากกว่าแค่ออฟฟิศซินโดรม” นายแพทย์เอกพลกล่าว

สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินแล้วว่าเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา ทำกายภาพบำบัด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการ ท่านั่งและบริบทในที่ทำงานให้เหมาะสม แต่ในกรณีที่ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท การรักษาเบื้องต้นจะเริ่มจากการใช้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยร้อยละ 60 – 70 ดีขึ้นหรือหายจากโรค แต่ในผู้ป่วยมีการกดทับเส้นประสาทรุนแรงจนทำให้ระบบประสาทเกิดความผิดปกติ เช่น เดินลำบาก ควบคุมการทรงตัวไม่ได้หรือแขนขาอ่อนแรง อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยปัจจุบันสามารถผ่าตัดผ่านกล้อง Microscope หรือกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ไม่ตัดกล้ามเนื้อเพื่อช่วยลดอาการปวดหลังผ่าตัด ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของระบบประสาท ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพียง 1-2 คืนหลังการผ่าตัดก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด

ส่วนการป้องกันและชะลอความเสื่อมของกระดูกสันหลังส่วนคอ ต้องเริ่มตั้งแต่การดูแลกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเพราะกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการทำงานร่วมกับกระดูก หากกล้ามเนื้ออ่อนแอหรือบาดเจ็บ กระดูกสันหลังจะต้องทำงานหนัก ทำให้บาดเจ็บหรือเกิดความเสื่อมเร็วกว่าปกติ โดยนายแพทย์เอกพลแนะนำให้หลีกเลี่ยงการอยู่ท่าเดิมในเป็นระยะเวลานาน ควรปรับเปลี่ยนอิริยบททุก 30 – 60 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ขยับหรือยืดหยุ่น เลือกนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลังและคอซึ่งจะช่วยลดแรงตึงของกล้ามเนื้อ รวมถึงออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อและสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ เพื่อยืดอายุการใช้งานกระดูกสันหลังให้นานขึ้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5500

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating