กินแบบไหนให้อร่อยและลดความเสี่ยงจากนิ่วในถุงน้ำดี?
ปัจจุบันนี้ ยิ่งเราใช้ชีวิตที่เร่งรีบมากเท่าไหร่ ความใส่ใจเรื่องอาหารการกินก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้นและมักเลือกรับประทานอาหารที่หาซื้อได้ง่ายแต่ไม่ให้คุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงานและไขมันสูง แต่รู้หรือไม่ว่า อาหารเหล่านี้ทำให้เราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ รวมไปถึง “นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)” ที่บางคนอาจละเลยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว
นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไร?
ถุงน้ำดี เป็นถุงเล็ก ๆ ที่อยู่บริเวณตับ ทำหน้าที่เก็บ “น้ำดี” ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการย่อยไขมันในร่างกายของเรา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความไม่สมดุลของน้ำดี ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการตกตะกอนของคอเลสเตอรอล เม็ดสีหรือบิลิรูบิน หรือของเสียต่าง ๆ ที่ขับออกมาไม่หมด ตะกอนเหล่านั้นสามารถสะสมจนเกิดเป็น “นิ่ว” หรือทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่อาการที่รุนแรงได้
นิ่วในถุงน้ำดีมี 2 ประเภท แบ่งตามสารที่ตกตะกอนอยู่ภายในถุงน้ำดี ได้แก่
- นิ่วที่เกิดจากคอเลสเตอรอล ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลมากเกินไป หรือคอเลสเตอรอลที่เป็นองค์ประกอบของน้ำดีถูกขับออกจากร่างกายไม่หมดจนตกตะกอน
- นิ่วที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงตายลง พบมากในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและโลหิตจาง
เช็กอาการ สัญญาณอันตรายที่คนไข้อาจไม่รู้ตัว
เพราะอาการในระยะแรกของนิ่วในถุงน้ำดี คล้ายอาการปวดท้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสับสนกับโรคทางกระเพาะอาหารจากสาเหตุอื่น เช่น
- แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แสบร้อนกลางอก
- ปวดจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- บางรายอาจคลื่นไส้
อาการเหล่านี้ บางรายเป็น ๆ หาย ๆ ภายใน 1-2 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบและไม่ได้รับการตรวจรักษาทันเวลา จนกระทั่งเข้าสู่ระยะที่ปวดท้องรุนแรง อาการไม่บรรเทาลงภายใน 4-6 ชั่วโมง และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ หนาวสั่นร่วมด้วย เมื่ออาการเข้าสู่ระยะนี้แล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก
อันตรายของนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี
นอกจากอาการเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารข้างต้นของผู้ป่วยจากนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว นิ่วในถุงน้ำดียังสามารถที่จะหล่นไปในท่อน้ำดีกลายเป็นนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างตับและถุงน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก ก็อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม อุจจาระสีซีด ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
แนวทางในการรักษา
หลังจากตรวจวินิจฉัยและอัลตราซาวนด์เพื่อดูก้อนนิ่วแล้ว แพทย์จะแนะนำแนวทางในการรักษา ซึ่งทำได้โดยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น ไม่สามารถใช้การรับประทานยาสลายนิ่วเหมือนการรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือวิธีการฉายรังสีอื่น ๆ ได้
การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีควรรีบทำตั้งแต่ตรวจพบ เพราะหากปล่อยไว้แล้ว จะเกิดการอักเสบ และอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดนั้นสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีอย่างรุนแรง เช่น เริ่มมีอาการดีซ่าน หรือถุงน้ำดีแตก รวมไปถึงผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดแบบส่องกล้องได้เนื่องจากเคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อนและมีพังผืดบริเวณที่จะผ่า
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นนวัตกรรมใหม่ทางการแพทย์ซึ่งปลอดภัยและแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่า จึงลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนและความเจ็บปวด ทั้งยังมีระยะเวลาพักฟื้นที่เร็วกว่า
กินอย่างไรให้ห่างไกลนิ่วในถุงน้ำดี?
โรคบางโรคอย่างนิ่วในถุงน้ำดีนั้น ต่อให้เราผ่าตัดเอาก้อนนิ่วและถุงน้ำดีออกไปแล้ว แต่หากไม่ปรับพฤติกรรมการกินควบคู่ไปด้วย ก็อาจเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง เพราะเมื่อผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีแล้ว น้ำดีที่สร้างมาจากตับจะไหลเข้าสู่ลำไส้โดยตรง และส่งผลต่อความสามารถในการย่อยไขมันของร่างกาย
การปรับพฤติกรรมการกินเป็นกุญแจสำคัญและนำไปสู่สุขภาพที่ดี ที่ไม่ใช่แค่ช่วงหลังผ่าตัดเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยเคร่งครัดเรื่องการรับประทานอาหารในทุกมื้อ ย่อมลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะอื่น ๆ ในอนาคตได้ด้วย
อาหารที่ควรลดหรือหลีกเลี่ยง
- อาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งจะทำให้ร่างกายย่อยไขมันยากขึ้น รวมถึงยังเสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องอืดคล้ายอาหารไม่ย่อย เช่น ขนมหวาน ของกินเล่น ของทอด เบคอน เนื้อสัตว์ติดมัน
- อาหารที่อุดมไปด้วยคอเลสเตอรอล เช่น อาหารทะเลบางชนิดอย่างปลาหมึก กุ้ง หอย ไข่แดง ไข่นกกระทา เนยเค็ม ชีส
- เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ หัวใจ ปอด เซี่ยงจี๊
- อาหารรสจัด ผ่านการปรุงแต่ง และอาหารสำเร็จรูป
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เปลี่ยนมากินอะไรให้ห่างไกลความเสี่ยง
- อาหารที่โปรตีนสูงแต่คอเลสเตอรอลต่ำ เช่น อกไก่ ปลา ไข่ขาว
- อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
- หากต้องการรับประทานอาหารที่มีไขมัน ให้เลือกไขมันชนิดไม่อิ่มตัว และมีไขมันไม่เกิน 3 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลโภชนาการของฉลากอาหาร
หากมีอาการปวดท้องและสงสัยว่าอาจมีความเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดี สามารถเข้ารับการตรวจรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางได้ที่ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป ชั้น 3 โรงพยาบาลเวชธานี วันจันทร์ – วันอาทิตย์ 08.00 – 20.00 น.
สอบถามข้อมูลและโทร. ติดต่อนัดหมายแพทย์ได้ที่ 02-7340000 ต่อ 4500 , 4501
- Readers Rating
- Rated 3.9 stars
3.9 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating