Checklist โปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับผู้หญิงในแต่ละช่วงวัย

บทความสุขภาพ

โปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้หญิงทุกวัย

Share:

อายุยิ่งมาก การตรวจสุขภาพยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นการตรวจคัดกรองและดูข้อบ่งชี้ของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรง หากตรวจพบเร็วก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษามากขึ้น แต่ความแตกต่างด้านสรีระของผู้หญิงและผู้ชายจึงมีการเฝ้าระวังโรคและการดูแลสุขภาพไม่เหมือนกัน ดังนั้น ควรต้องเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีให้เหมาะกับเพศและอายุ เพื่อประเมินสุขภาพและคัดกรองโรคที่เหมาะสมกับวัย

ทำไมเราต้องตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการตรวจความผิดปกติของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือแทบจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะพบโรคหรือความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค โดยเฉพาะอาการของโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพหรือชีวิต การตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีข้อดีดังต่อไปนี้ 

  • ตรวจพบโรคที่ยังไม่แสดงอาการ หรือไม่มีข้อบ่งชี้ที่แน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ซึ่งสามารถค้นหาโรคเจอได้ตั้งแต่ในระยะแรก จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ 
  • ตรวจพบความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค การตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมถึงการตรวจวัดความดันโลหิต การเอกซเรย์ปอด และการอัลตราซาวนด์ จะช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์และดูแนวโน้มที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้เป็นโรคเบาหวาน ระดับไขมันในเลือดสูงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 

ปัจจุบันสภาวะแวดล้อมและความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม โรคหรือภาวะบางอย่างอาจเกิดขึ้นก่อนวัยที่ควรจะเป็น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นการคัดกรองและบอกภาวะโดยรวมของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ผู้ตรวจระมัดระวังการใช้ชีวิตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเกิดโรบางอย่างได้

ขั้นตอนและการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ

สำหรับการตรวจสุขภาพประจำปี มีขั้นตอนและการเตรียมตัวก่อนการเข้าตรวจสุขภาพดังนี้ 

  • เลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับเพศ อายุ และความเสี่ยงของตัวเอง 
  • ก่อนวันที่จะเข้ารับการตรวจ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ งดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง 
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย และงดใส่เครื่องประดับ โดยเฉพาะเครื่องประดับโลหะ 

สำหรับผู้หญิงมีข้อแนะนำสำหรับการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพเพิ่มเติมดังนี้ 

  • ในช่วงมีประจำเดือน และช่วงก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน 7 วัน ควรงดการตรวจปัสสาวะ และการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม 
  • หากตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ ต้องแจ้งก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่องดการตรวจเอกซเรย์ 
  • การตรวจภายในควรตรวจก่อนหรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน 

Checklist โปรแกรมตรวจสุขภาพ

โปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีที่ต้องตรวจในแต่ละช่วงวัย มีดังต่อไปนี้ 

วัยเด็ก ช่วงอายุต่ำกว่า  18 ปี

ในช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต โดยแพทย์จะตรวจพัฒนาการ น้ำหนัก ค่า BMI (Body Mass Index) หรือดัชนีมวลกายเพื่อประเมินภาวะอ้วนผอม พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค และการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุเป็นหลัก ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ภาวะโภชนาการ

วัยทำงาน ช่วงอายุ 18-40 ปี

ในช่วงวัยนี้จะเน้นไปที่ความสมบูรณ์ของระบบการทำงานของร่างกายเป็นหลัก เพราะเป็นวัยที่มีความเครียดสูงกว่าวัยอื่น ๆ 

  • ตรวจร่างกายทั่วไป ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง BMI และความดันโลหิต
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด 
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 
  • ตรวจระดับไขมัน
  • ตรวจปัสสาวะ 
  • ตรวจการทำงานของไต 
  • ตรวจการทำงานของตับ 

ผู้หญิงวัยนี้ต้องตรวจอะไรเพิ่ม

  • ตรวจภายในทุก 1-2 ปี
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3-5 ปี 
  • ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 3 ปี ถ้ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมอาจจะตรวจด้วยแมมโมแกรมเพิ่มเติม

วัยทำงาน ช่วงอายุ 40-60 ปี

ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มเสื่อมโทรม ต้องการการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง นอกจากการตรวจสุขภาพแบบเดียวกับช่วงอายุ 18-40 ปีแล้ว ควรตรวจสุขภาพประจำปีเพิ่มดังนี้ 

  • ตรวจหากรดยูริคในเลือด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจวัดสายตา และความผิดปกติเกี่ยวกับตา 
  • ตรวจอุจจาระ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจทุกปี 
  • ตรวจเบาหวานทุก 3 ปี 

ผู้หญิงวัยนี้ต้องตรวจอะไรเพิ่ม

  • ตรวจภายในทุกปี
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปี 
  • ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุกปี
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวนด์ทุก 1-2 ปี

ผู้สูงอายุ ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป

ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ร่างกายถดถอย และบางคนเริ่มมีโรคประจำตัว และต้องการการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด นอกจากการตรวจสุขภาพแบบเดียวกับช่วงอายุ 18-40 ปีแล้ว ให้ตรวจสุขภาพประจำปีเพิ่มดังนี้ 

  • ตรวจตา ทุก 1-4 ปี 
  • ทดสอบการได้ยินทุก 1-2 ปี 
  • ตรวจสุขภาพช่องปากทุกปี 
  • ตรวจกระดูกและมวลกระดูก ผู้หญิงเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ชายเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป 
  • ตรวจอุจจาระทุกปี 
  • ตรวจเบาหวานทุกปี
  • ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี
  • ตรวจหาภาวะซีดทุกปี โดยเฉพาะเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป 
  • ตรวจภาวะโรคสมองเสื่อม 

ผู้หญิงวัยนี้ต้องตรวจอะไรเพิ่ม

  • ตรวจภายในทุกปี
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี 
  • ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุกปี
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวนด์ทุก 1-2 ปี

การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้เราทราบถึงอาการของโรคและความเสี่ยงของโรคร้ายแรง ซึ่งจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ผู้ที่ต้องการตรวจสุขภาพประจำปีสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเวชธานี หรือโทร. 02-734-0000 ต่อ   1111