สาเหตุหนึ่งของอาการปวดประจำเดือน หรือปวดท้องน้อยเรื้อรังที่ไม่ได้เกี่ยวกับประจำเดือน ก็คือการมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานนี่แหละ วันนี้เรามารู้จักภาวะนี้กัน
พังผืดในอุ้งเชิงกราน (Pelvic adhesion) คืออะไร?
พังผืด ก็คือ การมีเส้นใยหรือแผลเป็นยึดระหว่างอวัยวะภายในเข้าด้วยกัน มักเกิดตามหลังโรคที่มีอาการอักเสบในช่องท้องหรือการผ่าตัด
การเกิดพังผืด ถือเป็นกลไกตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เกิดตามหลังขบวนการอักเสบ (inflammation) ของเยื่อบุช่องท้อง และเยื่อบุอวัยวะต่างๆในช่องท้อง กระบวนการอักเสบนี้ ไม่จำเป็นต้องมีการติดเชื้อเสมอไป หลายๆภาวะ ก็ทำให้เกิดสารที่เกี่ยวกับการอักเสบได้เช่นกัน
สาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน
- การติดเชื้อ ของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่นมดลูก ปีกมดลูก หรืออวัยวะข้างเคียงเช่น ไส้ติ่งอักเสบ
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ รวมถึง ช็อคโกแลตซีสต์ โรคนี้จะทำให้มีการสร้างสารเกี่ยวกับการอักเสบ ทำให้เกิดพังผืดได้มาก
- ประวัติได้รับการผ่าตัดมาก่อน เช่นการผ่าตัดคลอด ผ่าเนื้องอกมดลูก ผ่าตัดไส้ติ่ง โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง จะมีการรบกวนอวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้มากกว่า จึงเกิดพังผืดจากการผ่าตัดได้มากกว่าผู้ที่ได้รับการผ่าตัดส่องกล้อง
อย่างไรก็ตามไม่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะส่วนใหญ่แล้ว คนที่มีพังผืดนี้จะ “ไม่มีอาการ” บางครั้งจึงตรวจพบได้โดยบังเอิญเมื่อได้รับการผ่าตัดด้วยโรคอื่น
อาการที่พบได้ของการมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
- อาการปวด เป็นการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจปวดตื้อๆหรือปวดบิดเป็นพักๆ ไม่เป็นประจำเดือนก็ปวด หรือมีอาการปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
- มีอวัยวะตีบตัน เมื่อพังผืดหนาและยึดติดแน่นขึ้น จะทำให้มีการตีบตันของบางอวัยวะได้ เช่น ลำไส้อุดตัน, ท่อไตบวม
- มีบุตรยาก หากพังผืดทำให้ท่อนำไข่อุดตัน หรือดึงรั้งทำให้ท่อนำไข่ตีบเสียรูป ก็จะทำให้มีบุตรยาก และเพิ่มความเสี่ยงต่อท้องนอกมดลูกได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สุขภาพสตรี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3200, 3204
- Readers Rating
- Rated 4.2 stars
4.2 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating