กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคหลอดเลือดสมอง ฟื้นฟูได้ด้วย TMS - Vejthani Hospital

บทความสุขภาพ

กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคหลอดเลือดสมอง ฟื้นฟูได้ด้วย TMS

Share:

ฟื้นฟูกล้ามเนื้ออ่อนแรงและลดอาการเกร็งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตประจำวันได้ดีกว่าเดิม

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นต้นเหตุของความพิการและการเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นของประเทศไทยในปัจจุบัน หากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้ากว่า 3 ชั่วโมง มีโอกาสเกิดความพิการได้ถึงร้อยละ 50 หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งการรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้น แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกร็ดเลือด หรือนำลิ่มเลือดออกด้วยการสวนหลอดเลือดสมอง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาในการมาถึงโรงพยาบาล

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วสุวัฒน์ กิติสมประยูรกุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า หลังจากรักษาโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ผู้ป่วยส่วนมากยังต้องเผชิญกับภาวะ อัมพฤกษ์ อัมพาต จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูเพื่อให้สามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติ ซึ่งช่วงเวลาสำคัญในการฟื้นฟูอยู่ในช่วง 6 เดือนแรกหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการฟื้นฟูภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตหลายรูปแบบ อาทิเช่น เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation) หรือ TMS และเครื่องกระตุ้นรยางค์ด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Peripheral Magnetic Stimulation) หรือ PMS ที่จะช่วยให้อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อดีขึ้นและอาการเกร็งกล้ามเนื้อลดลง

เมื่อได้รับการรักษาโรคแล้ว ยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ยังมีปัญหากล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงและมีอาการเกร็ง ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ส่งผลถึงความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน ซึ่ง เครื่อง TMS จะส่งคลื่นแม่เหล็กเข้าไปกระตุ้นสมองจากภายนอกด้วยการนำแผ่นกระตุ้นมาวางที่ศีรษะข้างที่มีปัญหา เพื่อปรับสมดุลในการทำงานของสมอง กระตุ้นการเชื่อมต่อและสร้างวงจรการสั่งงานใหม่ของเซลล์ประสาทสมองให้เกิดการฟื้นตัว ส่งเสริมสมองให้ทำงานดีขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อสั่งการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถวาง PMS ที่แขนหรือขาข้างที่อ่อนแรงเพื่อกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อโดยตรงและสามารถใช้ลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อได้อีกด้วย

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วสุวัฒน์กล่าว

การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กมีความปลอดภัยสูง สามารถกระตุ้นสมองได้โดยไม่ทำให้เจ็บปวดและไม่ต้องฝังหรือแทงขั้วไฟฟ้าผ่านผิวหนังลงไป ขณะรักษาอาจทำให้กล้ามเนื้อกระตุกเล็กน้อย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วย TMS อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยต้องทำร่วมกับการบำบัดฟื้นฟู ทั้งนี้ ไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการชัก มีโลหะฝังอยู่ในสมอง และใส่เครื่องกระตุ้นสมอง Deep brain stimulation 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2972, 2973

  • Readers Rating
  • Rated 4.2 stars
    4.2 / 5 (5 )
  • Your Rating