มิติใหม่ในการผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ แผลเล็ก ไม่ตัดกระดูก พักฟื้นสั้น กลับไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น

บทความสุขภาพ

มิติใหม่ในการผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ แผลเล็ก ไม่ตัดกระดูก พักฟื้นสั้น กลับไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น

Share:

โรคลิ้นหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ โรคลิ้นหัวใจตีบและโรคลิ้นหัวใจรั่ว โดยโรคลิ้นหัวใจตีบเกิดจากการที่ลิ้นหนาขึ้น หรือมีหินปูนมาเกาะจนทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง ส่วนโรคลิ้นหัวใจรั่วส่วนมากเกิดจากความเสื่อมสภาพหรือฉีกขาด จนกั้นการไหลเวียนของเลือดไม่ได้ ซึ่งโรคลิ้นหัวใจทั้งสองชนิดนี้จะทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เนื่องจากหน้าที่ของลิ้นหัวใจคือกั้นและบังคับเลือดให้ไหลไปทางเดียวกัน หากมีภาวะตีบหรือรั่วจะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น

อาการลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วแบ่งเป็นแบบเฉียบพลันกับเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีอาการแบบเฉียบพลันอาการมักจะรุนแรงและต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน ส่วนอาการโดยทั่วไปคือ เหนื่อยง่าย ใจสั่น ขาบวม นอนราบไม่ได้ หรือรุนแรงจนถึงขั้นหัวใจวาย

สำหรับการวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจตีบและโรคลิ้นหัวใจรั่ว แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์ปอด ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram, Echocardiography) หรือเอคโค (Echo) เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วแบบน้อย แบบปานกลาง และแบบรุนแรง หากมีอาการตีบหรือรั่วแบบน้อย แพทย์จะรักษาด้วยยาและให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น จำกัดปริมาณน้ำดื่ม ลดอาหารเค็ม จะประคับประคองอาการไปได้เนื่องจากโรคลิ้นหัวใจจะไม่หายขาด แต่จะค่อย ๆ เสื่อมลงเรื่อย ๆ ตามวัย บางคนอาจเสื่อมเร็ว บางคนอาจเสื่อมช้าขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง ส่วนผู้ป่วยที่ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมากขึ้นในระดับปานกลางหรือค่อนไปทางรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาการซ่อมลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม โดยแบ่งออกเป็น 3 หัตการ ดังนี้

  1. การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด หรือ TAVI (Trans Catheter Aortic Valve Implantation) เป็นการเปิดแผลขนาดเล็กเพื่อใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ จากนั้นใช้ขดลวดชนิดพิเศษนำส่งลิ้นหัวใจเทียมไปกางแทนที่ตำแหน่งลิ้นหัวใจเอออร์ติกเดิมด้วยระบบท่อนำทาง (delivery system) ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคร่วมหลายโรค เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนง่ายหรือมีข้อจำกัดในการผ่าตัด และเปลี่ยนได้เพียงแค่ลิ้นหัวใจเอออร์ติกเท่านั้น
  2. การผ่าตัดแบบมาตรฐาน คือการเปิดแผลบริเวณกลางหน้าอกประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรือซ่อมลิ้นหัวใจ อีกทั้งยังทำร่วมกับหัตถการอื่นที่เกี่ยวกับโรคหัวใจได้ด้วย เช่น หากผู้ป่วยมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบร่วมด้วย ก็สามารถทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจไปพร้อมกับการแก้ไขลิ้นหัวใจได้เลย แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดแบบมาตรฐานผู้ป่วยต้องพักฟื้นประมาณ 3 เดือน เพื่อรอให้กระดูกกลางหน้าอกเชื่อมติดกันสมบูรณ์ เนื่องจากศัลยแพทย์ต้องเลื่อยเปิดกระดูกกลางหน้าอก
  3. การผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยการส่องกล้อง โดยศัลยแพทย์จะเปิดแผลบริเวณใต้ราวนมฝั่งขวาประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร และมีแผลเจาะรูประมาณ 0.5 เซนติเมตร บริเวณข้างหน้าอก 2 ตำแหน่ง เนื่องจากวิธีนี้จะไม่ตัดกระดูกกลางหน้าออก แต่จะผ่าตัดผ่านช่องซี่โครงเข้าไปเพื่อซ่อมลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ ระยะเวลาในการนอน ICU การนอนโรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัดแบบมาตรฐาน ลดการใช้ยาฉีดแก้ปวดหลังผ่าตัด การฟื้นตัวก็จะดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ เพราะไม่ต้องรอให้กระดูกติดกัน และสามารถใช้รักษาลิ้นหัวใจได้ทั้ง 4 ลิ้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี ชั้น 5
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300, 5301

  • Readers Rating
  • Rated 4.3 stars
    4.3 / 5 (6 )
  • Your Rating