แม้ยุงจะเป็นสัตว์ตัวเล็กและมีวงจรชีวิตที่ไม่นานมากนัก แต่ก็สามารถนำพาโรคร้ายมาสู่คนได้จากการถูกกัดเพียงแค่ 1 ครั้ง ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยจากการถูกยุงกัดมีดังนี้
ไข้เลือดออก
เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีโดยมียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อย มีจุดเลือดเล็ก ๆ ขึ้นตามผิวหนัง เช่น แขน ขา ลำตัว ควรหลีกเลี่ยงการกินยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบชนิด NSAIDS เพราะอาจทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ โดยให้ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้แทน
ไข้ซิกา
เกิดจากเชื้อไวรัสซิกาโดยมียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นตามตัว ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อและปวดตา หากป่วยด้วยโรคนี้ระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กเกิดมาศีรษะเล็กกว่าปกติ
ชิกุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อ
เกิดจากเชื้อไวรัสชิกุนกุนยามียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามข้อโดยเฉพาะบริเวณข้อนิ้วมือและข้อมือ ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาแบบจำเพาะ เป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วย
ไข้มาลาเรีย
เกิดจากเชื้อปรสิตพลาสโมเดียมโดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายหวัดแต่รุนแรงกว่า โดยจะมีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนมากพบโรคนี้ได้บริเวณป่าและชายแดน ปัจจุบันมียารับประทานเพื่อป้องกันก่อนเข้าพื้นที่เสี่ยง
เท้าช้าง
เกิดจากหนอนพยาธิฟิลาเรียอุดทางเดินน้ำเหลือง มียุงลายเสือเป็นพาหะ มักพบบริเวณชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ผู้ป่วยจะมีอาการขาบวมใหญ่และผิดรูปคล้ายเท้าช้าง ในผู้ชายสามารถบวมลามขึ้นไปถึงบริเวณอัณฑะได้
ไวรัสเวต์ไนล์
เกิดจากไวรัสเวสต์ไนล์ที่มียุงรำคาญเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน และมีผื่นคันตามร่างกาย ในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยปัจจุบันมีวิธีรักษาแต่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีไข้สูงต่อเนื่อง 2 วัน รับประทานยาพาราเซตามอลแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการต่าง ๆ หลังถูกยุงกัดควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะส่วนใหญ่ไม่มียารักษาแบบเฉพาะ แต่เป็นการรักษาตามอาการ ดังนั้น หากปล่อยให้อาการรุนแรงอาจทำให้การรักษายากและซับซ้อนมากขึ้น หรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตก็เป็นได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2200
- Readers Rating
- Rated 4.7 stars
4.7 / 5 (Reviewers) - Outstanding
- Your Rating