ผมร่วงเป็นหย่อมรักษาได้ ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต | Vejthani

บทความสุขภาพ

ผมร่วงเป็นหย่อม ไม่ใช่โรคอันตราย รักษาหายได้

Share:

Alopecia Areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อม โดยบริเวณที่ผมร่วงมักมีขอบเขตชัดเจน สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในกลุ่มคนอายุเฉลี่ย 30 ปี

ปัจจุยันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่อาจมีปัจจัยที่ทำให้เกิด เช่น การมีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว ประวัติภูมิแพ้ เครียด ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของตัวเอง จนทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์เม็ดสีบริเวณรากผม ส่งผลให้ผมร่วง

นอกจากนี้ ยังพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์บางชนิด โรคโลหิตจางบางชนิด ซึ่งอาการผมร่วงอาจเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป สามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งบนหนังศีรษะ หรือแม้แต่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกายที่มีขน เช่น คิ้ว ขนตา หนวด จอน รักแร้ อวัยวะเพศ โดยภาวะผมร่วงชนิดนี้นี้มักจะเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ และส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย

ทั้งนี้ มักตรวจพบว่ามีภาวะผมหักเป็นตอติดหนังศีรษะเนื่องจากเส้นผมที่ขึ้นใหม่มีความเปราะและผิดปกติ โดยจะเกิดขึ้นในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย แต่เมื่อโรคสงบแล้วเส้นผมหรือเส้นขนสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้

โรคผมร่วงเป็นหย่อมแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

  • Alopecia areata (AA) ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่ศีรษะ คิ้ว หนวด หรือขนบริเวณลำตัว
  • Alopecia totalis (AT) ผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นมาก จนผมร่วงทั่วศีรษะ หรือเกือบทั่วศีรษะ
  • Alopecia universalis (AU) ผมร่วงกระจายทั่วศีรษะ ร่วมกับมีขนที่บริเวณลำตัวร่วงไปด้วย

โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มักมีผลกระทบต่อจิตใจ เพราะเป็นเรื่องของความมั่นใจและความสวยงาม โดยเฉพาะใน Alopecia universalis ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด แต่ตอบสนองต่อการรักษาต่าง ๆ น้อยที่สุด

สำหรับแนวทางในการรักษา โดยส่วนมากเป็นการใช้ยาทาและยาฉีดร่วมกัน โดยเป็นยาที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์ ดังนั้น จึงควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์ผิวหนังและความงาม
โทร 02-734-0000 ต่อ 4200, 4204

  • Readers Rating
  • Rated 4.3 stars
    4.3 / 5 (6 )
  • Your Rating