ผิวที่มีความไวต่อปัจจัยกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สารกันแดด เนื้อผ้าที่สวมใส่บางชนิด น้ำ หรือแม้กระทั่งสภาพอากาศที่แห้งและเย็น อาจทำให้เกิดอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง( Atopic Dermatitis) เป็นอาการของผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคติดต่อหรือเกิดจากความสกปรก แต่เกิดจากการที่ร่างกายของผู้ป่วย มีภูมิที่ไวต่อการตอบสนองต่อปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ มากเกินไป ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้อย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน โดยอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด และอาการแพ้อากาศ ร่วมกับภาวะทางภูมิต้านทานโรคในร่างกายผู้ป่วย หรือร่างกายอาจขาดโปรตีนที่ช่วยให้ผิวหนังกักเก็บน้ำได้น้อย จนทำให้ผิวหนังแห้ง แดง คัน ระคายเคือง และก่อให้เกิดโรคได้
อาการหลักทั่วไปของผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ได้แก่ มีผื่นแดง, ผิวแห้งเป็นขุย, คันยุบยิบ, เป็นๆ หายๆ, หากเป็นเรื้อรังผิวหนังจะหนาและมีรอยคล้ำ, คันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก และยิ่งเกา ยิ่งคัน นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงเหล่านี้ร่วมด้วย ได้แก่
- สีผิวเปลี่ยนแปลง อาจมีสีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงกว่าปกติ
- ผิวบอบบาง และบวมเมื่อถูกเกา
- ผิวแตก หรือเป็นสะเก็ดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
- คันตามผิวหนัง โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- ผิวเป็นปื้นสีแดง หรือสีน้ำตาลอ่อนปนเทาที่มักปรากฏบริเวณมือ เท้า ข้อเท้า ข้อมือ คอ อกช่วงบน ข้อพับ เปลือกตา ใบหน้าและศีรษะ
- ผิวหนังมีตุ่มพอง หรือมีแผลพุพองขนาดเล็กที่มีรอยแดงและการติดเชื้อรอบแผล ซึ่งอาจแตกและมีของเหลวไหลออกมาได้เมื่อถูกเกา
- มีของเหลวไหลออกจากหู หรือมีเลือดไหลออกจากหู
บริเวณหรือตำแหน่งที่มีการเกิดรอยโรคจะมีความแตกต่างกันตามวัยของผู้ป่วย เช่น ในวัยทารกมักจะเกิดผื่นขึ้นบริเวณแก้ม และด้านนอกของแขนขา ข้อมือ ข้อเท้า ขณะที่วัยเด็กโตและผู้ใหญ่มักพบผื่นที่มีความหนาขึ้นที่บริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น ข้อพับแขนขา บริเวณลำคอ หรือหากมีการเกาอาจเป็นปื้นลามไปทั่วร่างกายได้ ซึ่งการวินิจฉัยโรค นอกจากอาศัยประวัติอาการแล้ว แพทย์ผิวหนังอาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจร่างกาย, ทดสอบการแพ้ทางผิวหนังโดยการใช้สารก่ออาการแพ้บริเวณท้องขน, หรือตัดชิ้นเนื้อตรวจ
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาหลายเดือนหรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการในแต่ละบุคคล การรักษาเพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเองเบื้องต้น สามารถทำได้โดยการใช้สารให้ความชุ่มชื้นผิวเพื่อทำให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป, หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น และพยายามให้ผิวสัมผัสน้ำน้อยที่สุด, ใส่เสื้อผ้าที่นุ่มสบาย เนื้อผ้าไม่หยาบ และไม่รัดรูปจนเกินไป เพื่อลดการระคายเคือง
หากรักษาด้วยตนเองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะการวางแผนการรักษา และป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาให้ดียิ่งขึ้น
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์ผิวหนังและความงาม
โทร 02-734-0000 ต่อ 4200, 4204
- Readers Rating
- Rated 3.2 stars
3.2 / 5 (Reviewers) - Good
- Your Rating