ปวดคอ ปล่อยไว้จนสาย อันตรายกว่าที่คิด
อาการปวดคอเรื้อรังเป็นอาการที่พบได้บ่อยในวัยทำงานและวัยกลางคน อีกทั้งยังพบได้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานในท่าเดิมซ้ำ ๆ การใช้งานคอผิดท่าเป็นเวลานาน ซึ่งโดยทั่วไปหลายคนอาจคิดว่าอาการปวดเมื่อยบริเวณคอนั้นเป็นอาการที่สามารถหายไปเองได้ แต่ความจริงแล้วอาการปวดคอนั้นยังบ่งบอกได้ถึงโรคที่อันตรายอย่างโรคกระดูกคอเสื่อมหรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หากปล่อยไว้เป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีแก้ปวดคอที่ถูกต้อง อาจเกิดอันตรายถึงขั้นกลายเป็นอัมพาตได้
3 ระดับอาการโรคกระดูกคอเสื่อม
โรคกระดูกคอเสื่อมหรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้นและการใช้งานคอผิดท่าเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อมในกลุ่มคนอายุที่น้อยลง โดยมีอาการเริ่มแรกคือปวดตึงต้นคอหรือปวดคอร้าวไปที่สะบัก ปวดร้าวลงไปที่แขนข้างใดข้างหนึ่ง ปวดที่ข้อไหล่และมีอาการไหล่ติด ซึ่งโรคกระดูกคอเสื่อม แบ่งออกเป็น 3 ระดับอาการ ดังนี้
1. กระดูกคอเสื่อมที่ไม่กดทับเส้นประสาทและไขสันหลัง จะมีอาการปวดเมื่อยต้นคอ บ่า ไหล่
2. กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทคอ จะปวดตามแนวเส้นประสาท ชา อ่อนแรงบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขนหรือมือ รวมทั้งปวดร้าวจากคอลงไปที่แขน
3. กระดูกคอเสื่อมกดทับไขสันหลัง จะมีอาการเกร็งบริเวณลำตัว แขนและขา การทรงตัวไม่ดี ก้าวสั้น ใช้งานมือได้ไม่ถนัด
ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะเริ่มต้น อาจมีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ บ่า และไหล่ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นอาการปวดเมื่อยธรรมดาที่จะหายไปได้เอง หรือบำบัดด้วยการนวดคลายกล้ามเนื้อก็เพียงพอ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อาการปวดไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงกว่าเดิม อาจเป็นสัญญาณของโรคกระดูกคอเสื่อมหรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีแก้ปวดคอที่ถูกต้อง จึงจะช่วยให้หายขาดได้
แนวทางการรักษา
โรคกระดูกคอเสื่อมสามารถรักษาได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากอาการไม่รุนแรงสามารถใช้วิธีแก้ปวดคอด้วยการกายภาพบำบัดร่วมกับการรับประทานยา แต่ถ้ามีอาการชา แขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันแพทย์จะใช้เทคนิคผ่าตัดแบบแผลเล็ก ขนาดประมาณ 3 เซ็นติเมตร ช่วยให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1 – 2 คืน สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-2734 0000 ต่อ 5500
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating