มะเร็งตับอ่อน พบไม่บ่อย ตรวจพบยาก อัตราการตายสูง | โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

รู้จักมะเร็งตับอ่อน ก่อนที่จะสายเกินไป

Share:


มะเร็งตับอ่อน พบไม่บ่อย ตรวจพบยาก อัตราการตายสูง

“มะเร็งตับอ่อน” เป็นมะเร็งชนิดที่เราพบได้เป็นลำดับที่ 10 ของมะเร็งที่คนไทยเป็นในเพศชาย (ข้อมูลจากทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ปี 2563) แต่อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับอ่อนสูงมากเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากในช่วงเเรกผู้ป่วยไม่มีอาการที่จำเพาะต่อโรคจึงวินิจฉัยได้ยาก กว่าจะรู้ตัวอีกทีเซลล์มะเร็งก็ลุกลามไปมากแล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงควรสังเกตอาการและเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตให้น้อยลง


รู้จักตับอ่อนและมะเร็งตับอ่อน

“ตับอ่อน” เป็นอวัยวะในระบบย่อยอาหาร ที่ตำเเหน่งอยู่ลึกเข้าไปบริเวณหลังกระเพาะอาหาร เเละอยู่ด้านหน้ากระดูกสันหลังกลางลำตัว บริเวณส่วนหัวตับอ่อนถูกล้อมด้วยส่วนโค้งของลำไส้เล็กตอนต้น อยู่กลางช่องท้องบริเวณลิ้นปี่เเละทอดยาวไปทางซ้ายโดยส่วนปลายหางของตับอ่อนไปติดชิดกับม้าม ตับอ่อนมีขนาดความยาวประมาณ 12-15 ซม. ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยสำหรับการย่อยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เพื่อใช้ในการดูดซึมในลำไส้เล็ก อีกทั้งตับอ่อนยังสร้างอินซูลินเพื่อนำมาใช้ในการควบคุมระดับน้ำตาล ดังนั้น หากตับอ่อนทำงานผิดปกติก็จะทำให้การย่อยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันในลำไส้เล็ก และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีความผิดปกติตามไปด้วย

แม้ว่ามะเร็งตับอ่อนจะพบได้ไม่บ่อยนัก การวินิจฉัยค่อนข้างยาก ประกอบกับเมื่อเป็นมะเร็งในระยะแรกมักไม่แสดงอาการบ่งชี้ที่ชัดเจน จึงมักตรวจพบเมื่อมะเร็งตับอ่อนอยู่ในระยะลุกลาม และไม่สามารถผ่าตัดให้หายขาดได้ ที่สำคัญยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ แต่มักจะพบในผู้ที่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • เพศ : พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • อายุ :โดย 90% มักพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 55 ปี
  • การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 2-3 เท่า
  • โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากการดื่มสุราเรื้อรัง นิ่วในตับอ่อน
  • โรคอ้วน
  • การรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ
  • โรคพันธุกรรมบางชนิด

อาการบ่งชี้ของมะเร็งตับอ่อน

แม้ว่าอาการของมะเร็งตับอ่อนในระยะแรกจะไม่ได้ชัดเจน แต่มักจะเจอความผิดปกติเมื่อเซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ โดยพบว่าผู้ป่วยมักมีความผิดปกติดังต่อไปนี้

  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงซ้าย มักจะมีอาการปวดร้าวทะลุไปด้านหลัง
  • ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อนได้แม่นยำที่สุดคือการตรวจพิเศษทางรังสีวิทยา การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การส่องกล้องอัลตราซาวนด์ Endoscopic ultrasound(EUS) ในบางครั้งอาจจะใช้การตรวจเลือด และการพิสูจน์ชิ้นเนื้อ


การรักษา

สำหรับการรักษามะเร็งตับอ่อนที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งและอวัยวะข้างเคียงออก แต่หลายครั้งที่มักพบโรคในระยะลุกลาม จนไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยวิธิการรักษามะเร็งตับอ่อน แบ่งได้ 3 วิธี ได้แก่

1. การผ่าตัดวิปเปิล (Whipple procedure)

เป็นการผ่าตัดใหญ่เอาส่วนหัวของตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และท่อน้ำดีออกไปเป็นก้อนเดียวกัน (Enbloc resection) ร่วมกันกับเลาะต่อมน้ำเหลืองโดยรอบ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งในตับอ่อนและอวัยวะใกล้เคียง

2. การผ่าตัดแบบบายพาส (Hepaticojejunostomy/gastrojejunostomy bypass)

โดยการผ่าตัดระบายน้ำดีออกบายพาสทางลำไส้เล็กหรือการผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารไปลำไส้เล็ก เพื่อประคองอาการ ทำให้น้ำดีไหลสู่ระบบทางเดินอาหาร เเละสามารถรับประทานอาหารได้ เนื่องจากเซลล์มะเร็งลุกลามจึงต้องทำเส้นทางเบี่ยงของทางเดินน้ำดีและกระเพาะอาหาร ไม่ให้ถูกปิดกั้น

3. การฉายรังสีและเคมีบำบัด

ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

หากท่านใดมีความกังวลหรือมีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคมะเร็งตับอ่อน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2960 , 2961 , 2966

  • Readers Rating
  • Rated 3.7 stars
    3.7 / 5 (3 )
  • Your Rating