โรคไตวายเรื้อรัง คือโรคที่ไตถูกทำลายจนไม่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคไตอักเสบ นิ่วไต และการได้รับยาหรือสมุนไพรที่มีพิษต่อไต โดยโรคไตวายเรื้อรังระยะแรกถึงปานกลาง
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการหรือมีอาการแค่เล็กน้อย จึงมีคำกล่าวที่ว่า “โรคไตวายเป็นมหัตภัยเงียบ” จะวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยมารับการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะเท่านั้น ถ้าผู้ป่วยโรคไตวายเหล่านี้ ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันการ ก็จะมีการทำงานของไตเสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือมีการทำงานของไตน้อยกว่า 15% ในระยะนี้
ผู้ป่วยมักจะมีอาการผิดปกติชัดเจน ได้แก่ หน้าบวม ขาบวม ปัสสาวะออกน้อย ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะมีฟองหรือเลือดปน ผิวแห้งและคัน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายนี้จะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการคุมอาหารและกินยาเหมือนโรคไตเรื้อรังระยะอื่น ๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตร่วมด้วย ซึ่งมี 3 วิธี ได้แก่
- ล้างไตทางช่องท้อง คือการใช้สายยางฝังไว้ในช่องท้องแบบถาวรและใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง เพื่อฟอกของเสียในเลือดออก รวมถึงปรับสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีต่าง ๆ โดยต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาทุกวัน วันละ 4 – 6 ครั้ง สามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีเพื่อลดโอกาสติดเชื้อในช่องท้อง
- ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คือการนำเลือดของผู้ป่วยออกจากร่างกายด้วยการแทงเข็มเข้าเส้นเลือดแล้วต่อกับท่อไปยังตัวกรองเพื่อให้เลือดสะอาดและปรับสมดุลแร่ธาตุต่าง ๆ เครื่องไตเทียมจะนำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายตามเดิม โดยกระบวนการฟอกเลือดนี้จะใช้เวลาครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะต้องมารับการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง
- ปลูกถ่ายไต คือการผ่าตัดนำไตของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ มาทำหน้าที่แทนไตเดิมของผู้ป่วย โดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานแล้วต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดของผู้ป่วย ถ้าการผ่าตัดประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยจะไม่ต้องบำบัดด้วยการฟอกไตอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านไตใหม่ หรือที่เรียกว่าภาวะสลัดไต โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะติดเชื้อและไม่มีโรคหัวใจรุนแรง
ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแต่ละรายอาจใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เนื่องจากผู้ป่วยมักมีโรคอื่นร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและประเมินจากอายุรแพทย์โรคไต เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลเวชธานี โทร. 02-734-0000 ต่อ 5021
- Readers Rating
- Rated 3.5 stars
3.5 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating