ฝึกกล้ามเนื้อแขนด้วยหุ่นยนต์กายภาพ เพื่อการฟื้นฟูที่ดีกว่าของผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ฝึกกล้ามเนื้อแขนด้วยหุ่นยนต์กายภาพ เพื่อการฟื้นฟูที่ดีกว่าของผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

Share:

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดจากเส้นเลือดในสมองมีการแตก ตีบ หรือตัน ส่งผลให้เกิดความเสียหายของเนื้อสมอง ส่งผลให้เกิดแขนขาอ่อนแรง หรือเสียการควบคุม การประสานงานของแขนและขา ซึ่งหากได้รับการฟื้นฟูร่างกายอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับมาเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติ โดยหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูคือ “เข้ารับการฟื้นฟูอย่างถูกวิธีให้เร็วที่สุด”

นายแพทย์ฐชิภัทร เสรีอรุโณ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า นอกจากหุ่นยนต์กายภาพบำบัดส่วนขา เช่น Lokomat, C-Mill, และKeeogo ที่โรงพยาบาลเวชธานีได้นำมาใช้ในการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว การทรงตัว และการยืนเดินให้กับผู้ป่วยแล้ว ล่าสุดทางศูนย์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวโรงพยาบาลเวชธานีได้นำหุ่นยนต์กายภาพส่วนแขนและมือ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ฟื้นฟูการเคลื่อนไหว การใช้งานแขนและมือได้อย่างครบวงจรจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยเติมเต็มการฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยหุ่นยนต์กายภาพบำบัดแขนและมือที่ทางโรงพยาบาลเวชธานีเพิ่มเข้ามาประกอบด้วย

Luna EMG & Mezos SIT – หุ่นยนต์กายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่มีปัญหากล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง ทั้งในผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถขยับแขนได้ และในผู้ป่วยที่ต้องการเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อแขน หุ่นยนต์ Luna มาพร้อมกับมอเตอร์ที่ช่วยพยุงแขน พร้อมด้วยเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวที่ในรูปแบบที่ถูกต้อง เป็นไปตามหลักสรีระของการเคลื่อนไหวของมนุษย์ โดยขณะฝึกเครื่องจะบอกข้อมูลการฝึก ทำให้ผู้ป่วยฝึกการเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้องมากที่สุด

Hand of Hope – หุ่นยนต์กายภาพบำบัดมือสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์อัมพาต ที่กล้ามเนื้อมือไม่สามารถขยับได้ หรือแรงกำเหยียดมือยังไม่ดี หุ่นยนต์ Hand of Hope นี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของมือได้อย่างเป็นธรรมชาติและปลอดภัย ส่งเสริมการฟื้นตัวของระบบประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Armeo Spring – หุ่นยนต์กายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีปัญหาแขนอ่อนแรง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เริ่มขยับกล้ามเนื้อแขนได้ แต่แรงกล้ามเนื้อและการควบคุมการเคลื่อนไหวยังไม่ดีพอสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยหุ่นยนต์นี้ช่วยทำให้การฝึกการควบคุมและออกแรงกล้ามเนื้อทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะรายงานผลผ่านหน้าจอเพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้และปรับการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ถูกต้อง

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการประเมินระดับความสามารถการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย แบ่งเป็นระดับ 0 – 5 โดยที่ระดับ 0 – 1 หมายถึงผู้ป่วยยังไม่มีแรงที่จะขยับหรือยังไม่มีแรงพอที่จะเคลื่อนไหวร่างกายได้, ระดับ 2 – 3 หมายถึงกล้ามเนื้อเริ่มมีแรงขยับได้ เกร็งได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถออกแรงต้านได้, ระดับ 4 หมายถึงกล้ามเนื้อมีแรงขยับและเริ่มออกแรงต้านได้บ้าง แต่ยังไม่เท่าคนปกติ, ระดับ 5 หมายถึงการออกแรงได้ปกติแต่ในผู้ป่วยบางรายอาจยังหลงเหลือความผิดปกติ เช่น การควบคุมประสานงานหรือความละเอียดของมือ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างทันท่วงที สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ร่างกายจะเริ่มจดจำท่าทางในลักษณะที่ผิด ทำให้การเคลื่อนไหวไม่เป็นธรรมชาติ หรือไม่ดีพอสำหรับการใช้งาน ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขน หรือไม่สามารถขยับแขนหรือมือได้ ผู้ป่วยควรได้รับการฟื้นฟูโดยเร็วที่สุดเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า โดยทั่วไป Golden Period หรือ ช่วงเวลาทองของผู้ป่วยคือภายใน 1-3 เดือน อย่างไรก็ตามหากเกิน 3 เดือนไปแล้วก็ยังได้ประโยชน์จากการฟื้นฟู เพียงแต่ผลลัพธ์อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2316 , 2332

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (6 )
  • Your Rating