สัญญาณเตือน ฮีทสโตรก โรคอันตรายที่มากับหน้าร้อน - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

สัญญาณเตือน ฮีทสโตรก โรคอันตรายที่มากับหน้าร้อน

Share:

สภาพอากาศในช่วงนี้ร้อนแรงจนทำให้ใครหลายคนเหงื่อตกจนไม่กล้าสู้แดดไปตามๆกัน มีการคาดการณ์ว่าฤดูร้อนปีนี้จะพุ่งสูงไปถึง 43 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว โดยแสงแดดและอากาศที่ร้อนระอุในช่วงกลางวัน ส่งผลให้ผู้ที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ อาจมีความเสี่ยงอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ จากโรคลมแดด หรือ “ฮีทสโตรก” เนื่องจากร่างกายปรับสภาพไม่ทัน

นายแพทย์นริศ สมิตาสิน อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่าโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก จะมาพร้อมกับอากาศที่ร้อนจัดจนทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันเมื่อความร้อนในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส สมองส่วนควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะเกิดความผิดปกติ จนส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมองสำหรับกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่

  1. ผู้ที่ต้องทำงานกลางแดดหรือออกกำลังกายกลางแดดเป็นเวลานาน
  2. กลุ่มคนที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
  3. กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งร่างกายจะระบายความร้อนได้ไม่ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว
  4. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน
  5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
  6. ผู้ที่ทำงานในห้องแอร์เย็น ๆ แล้วต้องออกมาเจออากาศร้อนจัด อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  7. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าปกติ

“สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรกที่สามารถสังเกตได้เริ่มจาก เมื่อมีอากาศร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หน้าแดง ตัวร้อนจัด กระหายน้ำ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว กล้ามเนื้อเกร็ง มึนงง มีอาการชัก รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวน้อยลง จนหมดสติหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ซึ่งการช่วยเหลือ

เบื้องต้น ควรพาผู้ป่วยเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงปลดหรือคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออกใช้ผ้าชุบน้ำประคบตามตัว และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อนเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุดและรีบนำส่งโรงพยาบาล” นายแพทย์นริศ กล่าว

สำหรับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคลมแดด นายแพทย์นริศ กล่าวว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการต้องทำงานที่อยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน ไม่ควรออกกำลังกายกลางแดดแต่เลือกออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือเย็นแทน หลีกเลี่ยงไปอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ไม่ควรให้เด็ก ผู้สูงอายุ อยู่ในรถที่จอดรถทิ้งไว้กลางแจ้งเป็นเวลานาน ในช่วงฤดูร้อนควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวกหรือร่ม เลือกเสื้อผ้าที่โปร่ง ไม่หนา มีสีอ่อน จะช่วยระบายความร้อนได้ดี ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และดื่มน้ำระหว่างวันแม้จะไม่กระหายน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิในร่างกาย และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ขอให้รีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์สมองและระบบประสาท
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5400

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (8 )
  • Your Rating