4 สัญญาณ “Tennis Elbow” โรคปวดข้อศอกเรื้อรังที่ชาวออฟฟิศต้องระวัง - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

4 สัญญาณ “Tennis Elbow” โรคปวดข้อศอกเรื้อรังที่ชาวออฟฟิศต้องระวัง

Share:

“ชาวออฟฟิศ” ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้ขยับร่างกายหรือคนที่ต้องโดยเฉพาะการเหยียดข้อศอกหรือกระดกข้อมือในท่าซ้ำ ๆ เป็นประจำ หรือแม้กระทั่ง “แม่บ้าน” ที่ต้องทำงานบ้าน ทำกับข้าว ยกของหนักเป็นประจำ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรค “Tennis Elbow” หรือ “โรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก” ซึ่งเป็นอาการปวดข้อศอกที่พบได้บ่อย เกิดจากการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อที่มาเกาะตรงปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก ถูกเรียกและตั้งชื่อตามอาการบาดเจ็บของนักกีฬาเทนนิส แต่ปัจจุบันพบว่าในอาชีพอื่น ๆ ก็สามารถมีอาการปวดลักษณะนี้ได้เช่นกัน ส่งผลกระทบต่อการใช้งานมือและแขนในชีวิตประจำวัน โดยอาการที่เข้าข่าย มีดังนี้

  • ปวดเป็น ๆ หาย ๆ บริเวณปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก 
  • ไม่สามารถเหยียดแขนได้สุด
  • ปวดเวลาขยับแขนและข้อมือในท่าที่ต้องใช้งานเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เช่น กระดกข้อมือ ยกของ บิดแขน 
  • เมื่ออาการรุนแรงจะปวดร้าวลงกล้ามเนื้อแขนถึงข้อมือ แม้จะพักการใช้งานแขนแล้วก็ไม่หายและไม่มีแรงกำมือ

หากพบว่าเริ่มมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา หากปล่อยไว้จนเรื้อรังอาจมีอาการอ่อนแรงของนิ้วมือและข้อมือได้ สำหรับการรักษาจะเริ่มจากพักการใช้งาน กิจกรรมหรือกีฬาที่ต้องใช้แขนหนัก รับประทานยาเพื่อลดการอักเสบและทำกายภาพบำบัด หรือใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น อัลตราซาวนด์ (Ultrasound therapy) เลเซอร์ (Laser therapy) หรือช็อกเวฟ (Shock wave therapy) เพื่อกระตุ้นการซ่อมแซมและฟื้นฟูเนื้อเยื่อบริเวณเส้นเอ็นที่มีการอักเสบ

นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดความเข้มข้นสูง หรือ PRP (Platelet-rich plasma) ซึ่งเป็นการนำเลือดของผู้ป่วยมาปั่นแยกจนเป็นเกล็ดเลือดเข้มข้นที่เหมาะสม และฉีดกลับไปยังบริเวณที่ปวดหรือปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก จะช่วยลดการอักเสบและซ่อมแซมเอ็นที่เสียหาย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 6-12 เดือน แพทย์จะแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องที่ช่วยให้แผลมีขนาดเล็ก ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อผ่าตัดแล้วจะทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้เป็นปกติสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2298

  • Readers Rating
  • Rated 4.2 stars
    4.2 / 5 (5 )
  • Your Rating