ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ปล่อยทิ้งไว้ อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ปล่อยทิ้งไว้ อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

Share:

หากมีอาการปวดเกร็งท้องหรือท้องเสีย เป็น ๆ หาย ๆ ควรระวังเพราะเป็นสัญญาณว่าอาจเสี่ยงเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รับการรักษาจนเกิดการอักเสบมากขึ้น อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

แพทย์หญิงศศิพิมพ์ จามิกร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease หรือ IBD) เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการอักเสบของทางเดินอาหาร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่อาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยด้านพันธุกรรม ซึ่งมักพบในยุโรปและอเมริกามากกว่าแถบเอเชีย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบโรคนี้มากขึ้นในประเทศไทย เราจึงควรให้ความสำคัญ, มีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ผิดปกติจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง, ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และความเครียด

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Ulcerative Colitis: UC) อาการจะเกิดที่บริเวณลำไส้ใหญ่เป็นหลัก อาจอักเสบจนเป็นแผลและลุกลามเฉพาะเนื้อเยื่อชั้นตื้น ๆ ผู้ป่วยมักมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ท้องเสียเป็น ๆ หาย ๆ ถ่ายมีมูกปนเลือด มีการปวดท้อง รวมถึงอาจมีอาการข้ออักเสบหรือมีไข้ร่วมด้วย
  • โรคโครห์น (Crohn’s disease: CD) อาการสามารถเกิดขึ้นในกับระบบทางเดินอาหารส่วนใดก็ได้ ตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผู้ป่วยอาจมีอาการที่หลากหลาย เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายปนมูกหรือเลือดสด มีไข้ น้ำหนักลง ภาวะซีดหรือโลหิตจางร่วมด้วย

วิธีตรวจวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ คือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจดูผนังลำไส้ ช่วยให้แพทย์เห็นแผลภายในลำไส้ได้อย่างชัดเจน และสามารถนำชิ้นเนื้อบริเวณที่มีการอักเสบมาตรวจทางพยาธิ เพื่อคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

ปัจจุบันโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เริ่มรักษาด้วยการรับประทานยา ซึ่งการเลือกชนิดยาแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงและตำแหน่งของการ

อักเสบ หลังได้รับยาแล้วผู้ป่วยควรรับประทานอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น โดยทั่วไปมักมีอาการดีขึ้นภายใน 2 – 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลโภชนาการของตัวเอง โดยแนะนำให้รับประทานให้ครบ 5 หมู่ สัดส่วนต่อมื้อน้อยลง ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง แอลกอฮอล์ และคาเฟอีน

“โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง โรคจะสงบและผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะเดียวกันหากไม่รับการรักษาและปล่อยให้ลำไส้อักเสบเรื้อรังไปเรื่อย ๆ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียสารอาหารที่จำเป็น และเกลือแร่ รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้” แพทย์หญิงศศิพิมพ์กล่าว

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2960 , 2961 , 2966

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (7 )
  • Your Rating