โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นภาวะที่หลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบแคบหรืออุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ ซึ่งหากหลอดเลือดมีการตีบตันหลายตำแหน่งหรือหลายเส้น แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ปัจจุบันมีเทคนิคที่เรียกว่าการผ่าตัดบายพาสหัวใจด้วยเทคนิค “โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม” (Off-Pump CABG) ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาจากการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ลดอัตราการเสียเลือดลดลง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
นายแพทย์ชวกร เหลี่ยมไพรบูรณ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือการที่หลอดเลือดหัวใจมีการตีบหรือตันเลือดจึงไม่สามารถไหลผ่านได้สะดวก ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลง ซึ่งการตีบหรือตันเกิดจากการที่มีไขมันหรือหินปูนเกาะในหลอดเลือด โดยมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว เช่น โรคไขมันในหลอดเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่
ทั้งนี้ เมื่อเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะก่อให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หากเป็นมากขึ้นอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ เพราะฉะนั้นหากเริ่มมีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวัน ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีหลายวิธี ตั้งแต่การรับประทานยา, การทำบอลลูนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด, ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจมีการตีบตันหลายตำแหน่งหรือหลายเส้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เป็นการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจเพื่อให้เลือดได้ไหลผ่านแทนหลอดเลือดเดิมที่ตีบตัน
การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจวิธีที่ทำกันมานาน และยังทำเป็นมาตรฐานอยู่ เป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (On-Pump CABG) ร่วมกับทำให้หัวใจหยุดเต้น แพทย์จะสามารถผ่าตัดได้อย่างสะดวก แต่จากการศึกษาพบว่าเครื่องปอดและหัวใจเทียมอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะอักเสบในร่างกาย อาจทำให้การฟื้นตัวและการทำงานของหัวใจลดลง อีกทั้งยังส่งผลต่อเกล็ดเลือดและการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัดได้
ในปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดที่เรียกว่า การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช่เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) เป็นวิธีผ่าตัดที่หัวใจไม่หยุดเต้นในระหว่างการผ่าตัด โดยแพทย์จะนำเครื่องมือเข้ามาเกาะยึดหัวใจให้หยุดนิ่งในตำแหน่งที่จะทำการผ่าตัด โดยที่หัวใจยังเต้นอยู่ สามารถผ่าตัดได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม
การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม มีข้อดีหลายประการ ดังนี้
ลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม เสียเลือดน้อยกว่า ลดอัตราการเติมเลือดในขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด ลดระยะเวลาการผ่าตัดและดมยาสลบสั้นลง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ระยะพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นลง ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจด้วยเทคนิคไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม เป็นทางเลือกการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย แต่จำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการใช้เทคนิคนี้ จึงจะช่วยให้การผ่าตัดรวดเร็ว เกิดประโยชน์สูงสุด และปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการรักษา
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300
- Readers Rating
- Rated 4.8 stars
4.8 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating