ตรวจ Sleep Test รู้ทันโรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ตรวจ Sleep Test รู้ทันโรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

Share:

การนอนเป็นสิ่งสำคัญ โดยปกติเราใช้เวลานอนเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวันหรือ 1 ใน 3 ของการใช้ชีวิต เพื่อให้ร่างกายพักผ่อน หลังจากการเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งวัน แต่ยังมีบางคนที่ระหว่างการนอนหลับมีภาวะหายใจผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง ส่งผลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงสมองทำงานหนักและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในอนาคต

นายแพทย์ธนกร ทรรศนียศิลป์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันพบคนที่มีปัญหาการนอนกรนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการนอนกรนจะไม่เป็นอันตราย หากไม่มีภาวะการหายใจที่ผิดปกติหรือมีหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย โดยผู้ป่วยที่มีทางเดินหายใจแคบ ในเวลาหลับเมื่อหลับสนิทอาจจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีเสียงกรนติดขัดสะดุดไม่สม่ำเสมอ โดยบางช่วงจะมีช่วงกรนเสียงดังสลับกับเบาเป็นระยะ ๆ และจะมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจ ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงตามมาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่สมองจะตื่นตัวและทำให้ทางเดินหายใจเปิดและกลับมาหายใจอีกครั้ง ซึ่งวงจรนี้จะเกิดขึ้นตลอดทั้งคืน เป็นผลให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้มากขึ้น ในระยะยาวถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดรวมถึงโรคสมองได้

​อาการการนอนผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์คือ นอนกรนผิดปกติ, รู้สึกง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่นอนอย่างเพียงพอ, สะดุ้งตื่นกลางคืนเพราะรู้สึกสำลักน้ำลายหรือจมน้ำบ่อยๆ มีความรู้สึกเหมือนหายใจเหนื่อยกลางคืน สงสัยมีการหยุดหายใจขณะหลับ, มีคนสังเกตว่าพฤติกรรมผิดปกติขณะนอนหลับ เช่น นอนขากระตุก กัดฟัน ละเมอ หรือฝันร้าย

​ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วย ตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อแยกว่าเป็นนอนกรนประเภทใด และสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้ว่า มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากหรือไม่และตรวจการหายใจที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจและสมองขณะหลับ โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

  • การตรวจวัดคลื่นสมอง เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ และการตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ ว่าหลับได้สนิทแค่ไหน ประสิทธิภาพการนอน คลื่นสมองผิดปกติเช่นลมชักขณะหลับ
  • การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่
  • การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ เพื่อดูว่าร่างกายมีการขาดออกซิเจนหรือไม่ในขณะหลับ และหยุดหายใจหรือหายใจเบาหรือไม่
  • การตรวจวัดลมหายใจ ที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ ดูว่ามีการหยุดหายใจหรือไม่ เป็นชนิดไหน ผิดปกติมากน้อยแค่ไหน
  • ตรวจเสียงกรน เพื่อดูว่ากรนจริงหรือไม่ กรนดังแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน
  • การตรวจท่านอน ในแต่ละท่านอนมีการกรน หรือการหายใจผิดปกติแตกต่างกันอย่างไร

การทำ Sleep Test หรือการตรวจการนอนหลับชนิดมาตรฐาน (Standard PSG) ต้องทำในห้องปฏิบัติการนอนหลับ (Sleep laboratory) ควบคุมดูแลโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะทาง เพราะการตรวจค่อนข้างซับซ้อน และมีการติดอุปกรณ์ตามร่างกายหลายอย่าง การตรวจชนิดนี้สามารถบอกได้ว่า คุณภาพในการนอนเป็นอย่างไร หลับได้ดีหรือสนิทหรือไม่ และมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นขณะนอนหลับ ถ้าพบว่ามีการหยุดหายใจบ่อย อาจจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ(CPAP) แล้วทำการปรับความดัน เพื่อให้ทราบค่าความดันที่เหมาะสมที่สุด ที่ใช้รักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติขณะนอนหลับ จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป ระยะเวลาที่นอนหลับถ้าน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ผลที่ได้จะเชื่อถือได้น้อย ผลการตรวจการนอนหลับที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลการวัดระดับความลึกของการนอนหลับอาจจะผิดพลาดได้ ต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่มีความชำนาญในการอ่านคลื่นสมอง ตรวจเช็กผลซ้ำอีกครั้งด้วยจึงจะเชื่อถือได้

แนวทางการรักษาหลังเข้ารับการตรวจ Sleep Test แล้วพบว่ามีความผิดปกติของภาวะนอนกรนโดยไม่พบการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วร่วมด้วย แนะนำจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ เช่น ลดน้ำหนัก เปลี่ยนพฤติกรรมการนอน หลีกเลี่ยงการนอนหงายเพราะจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย หลีกเลี่ยงยาและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ และมีการติดตามประเมินอาการกับแพทย์เป็นระยะ

ส่วนกรณีของภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิน 15 ครั้งต่อชั่วโมง แพทย์จะรักษาด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ซึ่งเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 90-99% แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของวิธีนี้คือผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกไม่สะดวกสบายเพราะรู้สึกอึดอัดที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ในขณะนอนหลับ การรักษาทางเลือกด้วยการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายอาจช่วยแก้ไขการหยุดหายใจทำให้ไม่ต้องกลับไปใช้หรือลดการใช้เครื่อง CPAP ลงได้ ซึ่งการผ่าตัดปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโครงสร้างความผิดปกติของโครงหน้า จมูก และปากของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม การตรวจการนอนหลับหรือ standard PSG เป็นที่ยอมรับว่าเป็น Gold standard หรือการตรวจที่ดีที่สุดที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคของการนอน โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือแก้ไข อาจมีผลกระทบต่อสมอง หัวใจ และร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้ บางรายเป็นรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตขณะหลับได้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2200, 2204

  • Readers Rating
  • Rated 4.9 stars
    4.9 / 5 (5 )
  • Your Rating