ไซนัสอักเสบเรื้อรัง: ภัยเงียบจากฝุ่น PM2.5 - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง: ภัยเงียบจากฝุ่น PM2.5

Share:

ฝุ่น PM2.5 กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเรา หนึ่งในโรคที่หลายคนมองข้ามคือ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

โรคไซนัสอักเสบ ภาวะที่โพรงไซนัสเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดบริเวณใบหน้า การรับกลิ่นลดลง มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคภูมิแพ้ หรือผู้ที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน

ฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 0.1- 2.5 ไมครอน ฝุ่นเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ ลงไปสู่ปอด ส่งผลให้เกิดอาการ ไอ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด และ หอบเหนื่อยได้

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ฝุ่น PM2.5 มีความสัมพันธ์กับไซนัสอักเสบเรื้อรัง กลไกหลักคือ ฝุ่น PM2.5 จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงจมูกและไซนัสอักเสบ เกิดการบวม คัดจมูก น้ำมูกไหล

นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลกระทบอื่นๆ อีก เช่น

  • ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • กระตุ้นการอักเสบเรื้อรัง ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งปอด

วิธีป้องกันไซนัสอักเสบเรื้อรังจากฝุ่น PM2.5

  • ติดตามค่าฝุ่น PM2.5 เลี่ยงการออกนอกบ้านเมื่อค่าฝุ่น PM2.5 สูง
  • สวมหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพ เช่น หน้ากาก N95
  • ล้างมือบ่อยๆ
  • รักษาความสะอาดของบ้าน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

หากมีอาการของไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย  สำหรับการรักษาไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรง สาเหตุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยทั่วไป แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน เช่น การใช้ยาสเตียรอดย์พ่นจมูก และ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หากการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณา ทำการผ่าตัดไซนัสโดยการส่องกล้อง เพื่อเปิดโพรงไซนัส ระบายหนอง และขจัดเนื้อเยื่อที่อักเสบ ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น ลดอาการน้ำมูกไหล ลดอาการปวดศีรษะ เพิ่มประสิทธิภาพการรับกลิ่น และ ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

  • Readers Rating
  • Rated 4.2 stars
    4.2 / 5 (5 )
  • Your Rating