บทความสุขภาพ

เรื่องอันตรายที่ควรรู้ ของ “บุหรี่ไฟฟ้า”

Share:

หลายปีที่ผ่านมานี้ บุหรี่ไฟฟ้า (Electric Cigarette) กลายมาเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทดแทนบุหรี่มวน จะช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด แต่ความจริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าคือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายไม่แพ้กับสารเสพติดชนิดอื่น ๆ และยังส่งผลกระทบไปถึงคนรอบข้างอีกด้วย 

สารในบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ?

บุหรี่ไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ที่ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำ ประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่, ตัวทำความร้อน และ น้ำยา ซึ่งบุหรี่ชนิดนี้จะไม่มีควันที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนกับบุหรี่มวนทั่วไป แต่จะเป็นการสร้างไอน้ำร้อนจากน้ำยาที่บรรจุอยู่ภายใน หลายคนจึงเข้าใจว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ ส่วนผสมที่อยู่ในน้ำยา ล้วนเป็นส่วนผสมที่อันตราย หากเรารับเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดมไอน้ำร้อน จะก่อให้เกิดผลกระทบดังต่อไปนี้ 

นิโคติน (Nicotine)

นิโคติน คือ สารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่ ด้วยการออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ยิ่งเราสูบเข้าไปมาก ร่างกายก็จะยิ่งต้องการรับนิโคตินเข้าไปเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนิโคตินมาพร้อมกับอันตรายต่อร่างกายดังนี้

  • เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งตับอ่อน
  • เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคทางเดินหายใจ
  • เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ส่งผลต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์ และอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้ 

โพรโพลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) / กลีเซอรีน (Glycerin)

โพรโพลีน ไกลคอล และกลีเซอรีน คือ วัตถุเติมแต่งชนิดหนึ่ง นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด มีลักษณะเป็นของเหลว ไร้สี ไร้กลิ่น ทำหน้าที่เป็นตัวเพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นให้แก่สิ่งที่นำไปผสม ซึ่งหากสูดดมเข้าไปในร่างกายโดยตรง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ดวงตา และปอด ส่งผลให้เกิดอาการไอได้ 

นอกจากส่วนผสมเหล่านี้ ในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารประกอบอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยตรง เช่น โลหะหนัก หรือสารหนู หากสูดดมอย่างต่อเนื่อง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ อีกทั้งสารเหล่านี้ยังส่งผลให้เซลล์ในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งอีกหลากหลายชนิด 

บุหรี่ไฟฟ้า ช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่ ?

การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่วิธีที่จะช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ เพราะในบุหรี่ไฟฟ้าก็มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบไม่ต่างจากบุหรี่มวน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มจำนวนผู้สูบอายุน้อย ด้วยรูปลักษณ์และกลิ่นที่แต่งเติมมาอย่างหนัก เพื่อกลบเกลื่อนอันตรายจากส่วนผสม 

ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองบ่อยแค่ไหน ?

ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดและโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดมากกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มากถึง 10 เท่า ดังนั้นจึงต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ ทุก ๆ 1 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษา และลดความเสี่ยงในการลุกลามของโรค 

การตรวจคัดกรองโรคสำหรับผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้า

  • ตรวจคัดกรองโรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด
  • ตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดและเส้นเลือดหัวใจ

ทำอย่างไรถ้าอยาก “เลิกบุหรี่” ?

ด้วยโทษของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีมากไม่แพ้กับบุหรี่มวน หากใครที่มีเป้าหมายอยากเลิกบุหรี่ แนะนำว่าควรทำตามวิธีดังต่อไปนี้ แทนการมองหาตัวช่วยที่ไม่เพียงแต่จะทำให้เราเสพติดการสูบบุหรี่มากขึ้นกว่าเดิม แต่ยังเป็นการทำลายสุขภาพทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง 

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พาตัวเองออกห่างจากสิ่งเดิม ๆ เช่น เลิกสูบบุหรี่หลังดื่มกาแฟ หรือเลิกไปสถานที่ที่สามารถสูบบุหรี่ได้ 
  2. ทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ทุกชนิด เช่น บุหรี่, ซองบุหรี่, บุหรี่ไฟฟ้า และไฟแช็ก
  3. พกลูกอมหรือหมากฝรั่งติดตัวไว้ตลอดเวลา ถ้ารู้สึกอยากสูบบุหรี่เมื่อไหร่ ให้อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งทันที
  4. รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยว เพราะรสเปรี้ยวจะช่วยลดความอยากสูบบุหรี่
  5. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะอาหารรสจัดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความอยากสูบบุหรี่
  6. มีความตั้งใจในการเลิกสูบ เพราะสิ่งสำคัญคือการไม่ยอมแพ้
  7. ให้รางวัลตัวเองถ้าทำได้ตามเป้าหมาย เช่น ไปพักผ่อนตากอากาศ, ทานอาหารมื้อพิเศษ เป็นต้น
  8. แจ้งทุกคนที่เป็นคนสำคัญและอยู่รอบตัวเรา ถึงความตั้งใจในการเลิกสูบบุหรี่และให้คนรอบตัวเป็นแรงผลักดัน ตักเตือนเวลาที่จะหวนกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้ง

สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญปัญหา สามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ หรือเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ที่ คลินิกโรคปอดและทางเดินหายใจ ชั้น 1 โรงพยาบาลเวชธานี โดยอายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ พร้อมเทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดหมายล่วงหน้าเพื่อพบแพทย์ได้ที่ โทร. 02-734-0000 ต่อ 2200, 2204