บทความสุขภาพ

ปลูกถ่ายไตแบบ Living สู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

Share:

โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นโรคที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะจะต้องเผชิญกับการฟอกไตไปตลอดชีวิต จนทำให้บางคนต้องสูญเสียโอกาสในการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งปัจจุบันการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

นายแพทย์ณฐพุฒิ บุญวิสุทธิ์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งมีอัตราความสำเร็จสูงและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องฟอกไตไปตลอดชีวิต เพียงแต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านไตใหม่ หรือที่เรียกว่าภาวะสลัดไต โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยทุกรายที่ไม่มีข้อห้าม เช่น อวัยวะสำคัญอื่นทำงานล้มเหลว มีโรคมะเร็ง หรือโรคติดเชื้อที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา

การรับไตบริจาคจากผู้อื่นมี 2 รูปแบบ ได้แก่

  • รับไตบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิต: มาจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายจากการประสบอุบัติเหตุ หรือสาเหตุอื่นๆ โดยในทางกฎหมายและทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว แต่อวัยวะภายในยังทำงานเป็นปกติดี โดยในประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะของสภากาชาดไทยจะเป็นผู้จัดสรรไตให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังตามลำดับคิวต่อไป ซึ่งอัตราความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายประมาณ 85 – 90%
  • รับไตบริจาคจากผู้ที่ยังมีชีวิต: มาจากญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือเป็นการบริจาคไตของคู่สามีภรรยาที่แต่งงานและอยู่ด้วยกันมากกว่า 3 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถทำเรื่องขอบริจาคให้ผู้ป่วยไตได้ แต่หากในกรณีที่ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องรอจนครบ 3 ปี ซึ่งอัตราความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตประมาณ 95 – 98% สำหรับผู้บริจาคไตที่มีชีวิต จะต้องผ่านการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานคนทั่วไป

นายแพทย์ธัชชัย พิพิธพันธ์พิพิท ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า เทคนิคการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต การผิดพลาดในการผ่าตัดอาจส่งผลให้เกิดการล้มเหลวของการปลูกถ่ายไตโดยไม่สามารถแก้ไขได้ ประกอบกับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ดังนั้นทีมผ่าตัดปลูกถ่ายไต ต้องมีความชำนาญและประสบการณ์สูง รวมถึงความรู้ในขั้นตอนการผ่าตัดอย่างละเอียด ปัจจุบันการผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต จะมีวิธีการผ่าตัด 2 ประเภทคือ ผ่าตัดแบบเปิดสีข้าง (open donor nephrectomy) และการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง (laparoscopic donor nephrectomy)

  1. ผ่าตัดแบบเปิดสีข้าง (open donor nephrectomy) เป็นการผ่าตัดที่จะต้องดมยาสลบ โดยใช้เวลาในการผ่าตัด 2-3ชั่วโมง วิธีการผ่าตัดแบบนี้จะมีแผลยาวประมาณ 10-12 นิ้ว ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 7 วันเพราะผู้ป่วยจะมีอาการปวดหรือชาหลังการผ่าตัดพอสมควร หลังจากนั้นผู้บริจาคก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติภาย4 – 6 สัปดาห์
  2. ผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง (laparoscopic donor nephrectomy) เป็นการผ่าตัดส่องกล้องที่จะต้องดมยาสลบแล้วนำไตออกมา ใช้เวลาผ่าตัด 1–2 ชั่วโมง วิธีการผ่าตัดแบบนี้จะทำผู้ป่วยมีแผลขนาดเล็กกว่า มีอาการปวดหรือชาจากการผ่าตัดน้อยกว่า และมีระยะฟื้นตัวสั้นกว่าการผ่าตัดแบบเปิด จึงพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นกว่า คือประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นผู้บริจาคก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติภายใน 1-2 สัปดาห์

หลังจากที่ผู้บริจาคไตได้บริจาคไตให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถที่จะใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เนื่องจากการคัดเลือกผู้บริจาค แพทย์จะดูหลายปัจจัยร่วมกันอย่างละเอียด จึงมั่นใจได้ว่าการมีไตเหลือเพียงข้างเดียวเพียงพอที่จะทำหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกนอกร่างกาย ตลอดจนยังคงสามารถทำหน้าที่อื่น ๆ ของไตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้อายุขัยของผู้บริจาคไตยังยืนยาวเท่ากับคนปกติ เพียงแต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับไตที่เหลืออยู่ และในช่วง 1 เดือนหลังการผ่าตัด ผู้บริจาคไตควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจการทำงานของไตและสุขภาพร่างกายทั่วไป และหลังจากนั้นควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างน้อยเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้หลังจากที่ปลูกถ่ายไตแล้ว ไตจะมีอายุการใช้งานนานขึ้นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตจะมีโอกาสที่การใช้งานของไตจะอยู่ได้นานกว่าผู้ที่ได้ไตบริจาคจากผู้บริจาคสมองตาย การทำงานของไตตั้งต้น อายุ หรือโรคประจำตัวของผู้บริจาคไตล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลรักษาตนเองต่อเนื่องของผู้ป่วยหลังรับการปลูกถ่ายไต พฤติกรรมที่เหมาะสมและการควบคุมการกินยาที่สม่ำเสมอ จะส่งผลให้อายุการใช้งานของไตมีอายุยาวนานมากที่สุด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2200, 2204

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (3 )
  • Your Rating