การทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือการเล่นมือถือติดต่อกันหลายชั่วโมง พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เป็นโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome) ซึ่งมักพบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน หรือคนที่ชอบเล่นมือถือ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการอาจรุนแรงขึ้นและอาจนำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการใช้มือได้อย่างถาวร
แพทย์หญิงวิชชุรีย์ เวชชากุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านมือ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท เกิดจากการที่เส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ซึ่งอยู่ในอุโมงค์ข้อมือถูกกดทับจนทำให้เกิดอาการปวดและชาที่มือ โดยอาการนี้พบได้บ่อยในคนที่ใช้มือทำงานหนักๆ หรือการทำงานที่ต้องมีการเคลื่อนไหวข้อมือซ้ำๆ เช่น การพิมพ์งาน การใช้เครื่องมือหนัก การทำงานบ้าน หรือการทำงานที่ต้องยกของ รวมถึงการขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นเวลานาน
อาการของโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท
- อาการชา รู้สึกชาที่บริเวณนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งนิ้วนาง
- อาการปวด จะปวดบริเวณข้อมือและนิ้วมือ ซึ่งอาจร้าวไปถึงแขนได้
- อาการอ่อนแรง หากมีการกดทับเส้นประสาทมีเดียนเป็นเวลานาน อาจทำให้กล้ามเนื้อนิ้วหัวแม่มืออ่อนแรง หยิบจับสิ่งของหลุดมือง่าย หรือไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ดี
- อาการในช่วงกลางคืน อาการชาและปวดมักเป็นมากขึ้นในช่วงกลางคืน หรือเมื่ออยู่ในท่าที่งอข้อมือ
แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnosis) ในการตรวจหาความผิดปกติของเส้นประสาท เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพ
การรักษาโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทมีการรักษาหลายแบบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคดังนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อมือ โดยลดการใช้ข้อมือลงเท่าที่จะทำได้หรือทำการเปลี่ยนอุปกรณ์การทำงานให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
- การใช้อุปกรณ์พยุงข้อมือ (wrist support) วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจจะส่งผลให้อาการพังผืดกดทับเส้นประสาทแย่ลง หรือมีอาการปวดชามากตอนกลางคืน แพทย์จะแนะนำให้สวม wrist support เพื่อให้ข้อมืออยู่ในท่าที่เหมาะสม ไม่เพิ่มการกดทับเส้นประสาทมีเดียน
- การใช้ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน เพื่อลดอาการปวด บวม รวมถึงยากลุ่มที่ช่วยลดการอักเสบของเส้นประสาท และวิตามินบำรุงเส้นประสาท
- ฉีดสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ และระงับอาการปวด
- การทำกายภาพบำบัด ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะแนะนำวิธีและขั้นตอนการทำกายภาพบำบัดบริเวณข้อมือ เพื่อให้เส้นประสาทมีเดียนเคลื่อนไหวในช่องข้อมือได้สะดวกขึ้น รวมถึงใช้เครื่องมือช่วยลดการอักเสบและกระตุ้นการฟื้นตัวของเส้นประสาท
หากรักษาวิธีดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีทั้งวิธีการผ่าตัดแบบแผลเปิดขนาดเล็ก (Mini Open Carpal Tunnel Release) และวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องเอนโดสโคป (Endoscopic Carpal Tunnel Release: ECTR) ซึ่งแพทย์จะทำการเปิดแผลขนาดเล็กที่บริเวณข้อมือ จากนั้นสอดกล้องเล็กๆ เข้าไปในอุโมงค์ข้อมือเพื่อดูบริเวณที่มีการกดทับ จากนั้นใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อตัดพังผืดที่กดทับเส้นประสาทมีเดียน เพื่อให้เส้นประสาทมีพื้นที่มากขึ้นและลดแรงกดทับ โดยวิธีนี้จะทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร แผลจะเป็นแบบแนวนอนอยู่บริเวณข้อมือ ทำให้หลังผ่าตัดหากไม่สังเกตจะไม่ค่อยเห็นรอยแผลเพราะกลมกลืนไปกับผิวหนังในบริเวณนั้น
อย่างไรก็ตาม โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบเร็วและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2299
- Readers Rating
- Rated 4.8 stars
4.8 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating