“ไอกรน” โรคร้ายที่อาจทำให้เด็กอ่อนแอและเสี่ยงต่อชีวิต

บทความสุขภาพ

“ไอกรน” โรคร้ายที่อาจทำให้เด็กอ่อนแอและเสี่ยงต่อชีวิต

Share:

"ไอกรนในเด็ก" โรคร้ายที่อาจทำให้เด็กอ่อนแอและเสี่ยงต่อชีวิต

หลายคนอาจมองข้ามอาการไอที่ดูเหมือนธรรมดา แต่ในความเป็นจริงอาจเป็นสัญญาณของ “โรคไอกรน” ที่หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในเด็ก เพราะระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดี ทำให้เด็กเล็กมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตได้สูงกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า

แพทย์หญิงอิศราณี วารีสุนทร กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่าไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากแบคทีเรีย Bordetella pertussis ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านทางละอองฝอยจากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อ โรคนี้จะมีความรุนแรงในเด็กทารกและเด็กเล็กที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม อาการชัก หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้

ปัจจุบันโรคไอกรนได้กลับมาระบาดอีกครั้งในหลายประเทศ แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่มีการใช้วัคซีน แต่รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในปี 2023 ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรนกว่า 150,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำหรือไม่มีการเข้าถึงวัคซีนอย่างเพียงพอ เช่น ในสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยไอกรนกว่า 15,000 รายต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนประเทศไทย พบผู้ป่วยไอกรนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วน

อาการของโรคไอกรนแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะเริ่มแรก (Catarrhal Stage) มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้ต่ำ น้ำมูกไหล และไอเล็กน้อย จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าจะมีอาการไอนานเกิน 10 วัน โดยจะมีลักษณะไอแห้งๆ
  2. ระยะไอรุนแรง (Paroxysmal Stage) ระยะนี้มีอาการไอเป็นชุดๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มี อาการไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้งตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) อาจมีการไอจนอาเจียนหรือหายใจลำบาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ระยะนี้มักกินเวลานาน 1-6 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้น
  3. ระยะฟื้นตัว (Convalescent Stage) อาการไอเริ่มลดลง แต่ยังอาจมีการไอต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์

เมื่อนับรวมทั้งสามระยะ ในเด็กจะไอโดยเฉลี่ยประมาณ 112 วัน ก็อาจทำให้เกิดภาวะเเทรกซ้อนหลายอย่างในเด็กที่เกิดจากการไอที่รุนเเรงเเละยาวนาน เช่น ซี่โครงร้าว หรือเส้นเลือดในตาเเตก ปวดหลัง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น

โรคไอกรนสามารถรักษาได้ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าแบคทีเรีย Bordetella pertussis ที่เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งยาจะทำงานได้ดีที่สุดในช่วง 7 วันเเรกที่มีอาการถึงจะได้ผลการรักษาดีที่สุด แต่ในเด็กเล็กบางราย อาจจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเเละต้องให้น้ำเกลือเมื่อมีอาการไอจนกินอะไรไม่ได้ ไอจนอาเจียน และเบื่ออาหารมาก

สำหรับการป้องกันโรคไอกรนที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนนี้มักรวมอยู่ในวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) โดยมีกำหนดการฉีดในเด็กที่อายุ 2, 4, 6, และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทุก 10 ปี เพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกัน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กุมารเวชกรรม ชั้น 3 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3310 , 3312 , 3319

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating