![](https://www.vejthani.com/wp-content/uploads/2025/02/health-article-thai-AVM-–-Arteriovenous-Malformation-Abnormal-Stroke-The-Silent-Threat-publ-2025-02-14-1.png)
![](https://www.vejthani.com/wp-content/uploads/2025/02/health-article-thai-AVM-–-Arteriovenous-Malformation-Abnormal-Stroke-The-Silent-Threat-publ-2025-02-14-1.png)
อาการผิดปกติบางอย่างที่ดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไป เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาการชักเกร็งเฉียบพลัน ปวดศีรษะในบางจุดอย่างไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะร้ายแรงที่ซ่อนอยู่ เช่น โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (AVM) ที่สามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่รีบมารักษา
นายแพทย์พงศกร พงศาพาส ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (AVM – Arteriovenous Malformation) เกิดจากเส้นเลือดที่เชื่อมกับเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำในสมองพันกัน โดยเส้นเลือดแดงมีหน้าที่ลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนสูงจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงสมอง ขณะที่เส้นเลือดดำมีหน้าที่ลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนต่ำจากทุกส่วนของร่างกายไหลกลับเข้าสู่หัวใจ เมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็มขึ้น เลือดก็จะไม่สามารถลำเลียงได้ตามปกติ และหากเกิดภาวะหลอดเลือดสมองที่ผิดปกติเบียดผนังหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำอย่างแรง หลอดเลือดเหล่านี้ก็จะเปราะบางและแตกได้ง่าย จนนำไปสู่การเกิดภาวะเลือดออกในสมอง
งานวิจัยหลายฉบับพบว่า โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอเอ็มวี ผู้ป่วยสามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด และอาจเริ่มเป็นในช่วงการพัฒนาของทารกในครรภ์ ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็มพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกทางกรรมพันธุ์ (Hereditary Hemorrhagic Telangiectasia: HHT) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่ง คือ ภาวะ Osler-Weber-Rendu ซึ่งภาวะนี้มักจะส่งผลต่อกระบวนการสร้างหลอดเลือดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงสมอง ทั้งนี้โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็มเป็นโรคที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคได้อย่างแน่ชัด
โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ซึ่งอาการของโรคนี้มักค่อย ๆ ปรากฏในช่วงอายุ 10-40 ปี โดยจะแสดงออกชัดเจนในวัยผู้ใหญ่ หรืออาจไม่มีอาการจนกว่าหลอดเลือดแดงจะเกิดการแตกจนเลือดออกในสมอง สำหรับบางราย อาจเริ่มมีอาการเมื่อเกิดภาวะเลือดออกในสมองแล้ว อาการร่วมที่อาจพบ ได้แก่
- ชักกระตุก
- ปวดหัวที่บริเวณหนึ่งของศีรษะ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือชาที่บริเวณหนึ่งของร่างกาย หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต
- สูญเสียการมองเห็น
- พูดไม่ชัด
- อาการสับสน มึนงง ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้
- สูญเสียสมดุลการเคลื่อนไหวอย่างสิ้นเชิง
วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม สามารถตรวจได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี (Cerebral Angiography) ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยที่มีความละเอียดสูงสุด และมีประโยชน์ในการระบุตำแหน่งและลักษณะของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีการตรวจแบบ CT Scan และ MRI
โดยการตรวจแบบ MRI จะสามารถบ่งบอกถึงตำแหน่งของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็มและสามารถแสดงรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อสมอง โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เนื่องจากไม่ต้องใส่อุปกรณ์สวนหลอดเลือด และผู้ป่วยจะไม่ได้รับรังสี
สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็มมีหลายวิธี โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับช่วงอายุและสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย จุดประสงค์หลักในการรักษา คือการทำให้ไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งการผ่าตัดนำเส้นเลือดที่ผิดปกติออกอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่ำต่อการเลือดออกในสมองหรือการชักกระตุก โดยแพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง นอกจากนี้ ยังมีวิธีการอื่น ๆ ในการรักษาโรคนี้ เช่น การใส่ขดลวดเพื่ออุดหลอดเลือด (Endovascular Embolization) และ การฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic radiosurgery)
ทั้งนี้หากมีอาการเข้าข่าย โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็มและมีภาวะเลือดออกในสมองร่วมด้วย ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะนั่นอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 5400
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating