

หากมีอาการหูอื้อ หูมีเสียงหวีด และการได้ยินลดน้อยลง อย่านิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหูหรือระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโรคทางสมองได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุการเกิดอาการหูอื้อมาจากหลายสาเหตุและมีความอันตรายแตกต่างกัน
อาการหูอื้อเป็นอย่างไร ?
หูอื้อ คืออาการได้ยินเสียงลดน้อยลง เหมือนมีบางสิ่งมาอุดกั้นอยู่ที่บริเวณหู หรือรู้สึกว่าหูมีเสียงอื้ออึง เสียงก้อง เสียงหวีดขึ้นอยู่ภายใน สามารถเกิดได้ทั้งชั่วคราวและต่อเนื่อง เป็นได้ทั้งข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งส่งผลกระทบและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ อีกด้วย
หูอื้อเกิดจากอะไร ?
อาการหูอื้อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่สามารถพบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้
- อยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังมาก เช่น คอนเสิร์ต หรือมีแรงดันอากาศผิดปกติ เช่น การขึ้นเครื่องบิน การดำน้ำ
- หูอื้อจากการอุดกั้นของขี้หูหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น น้ำคั่งค้างอยู่ในหู คอตตอนบัด แมลง
- หูชั้นกลางอักเสบจากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อภาวะหลังไข้หวัด ส่งผลให้ท่อที่ต่อไปยังหูชั้นกลางเกิดการอุดกั้น เมื่อกลืนน้ำลาย จึงทำให้หูอื้อได้
- ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ จนส่งผลกระทบต่ออวัยวะหูชั้นในทำให้สูญเสียการได้ยิน
- ผลกระทบจากอาการทางสมอง เช่น เนื้องอกสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ และเลือดออกในสมอง
- ผลกระทบจากความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแข็งตัว และเส้นเลือดแดงโป่ง
- ผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบ ยาวัณโรค ยามาลาเรีย ยาอิริโทรมัยซิน และยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคไซนัสอักเสบ
- ประสาทหูเสื่อมตามอายุ
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น มีเนื้องอกเกิดขึ้นในหู หรือประสาทหู กระดูกในหูมีการงอกผิดปกติ หูตึงแต่กำเนิด
การวินิจฉัยอาการหูอื้อ
สำหรับการวินิจฉัยอาการหูอื้อ สามารถทำได้ด้วยกระบวนการดังต่อไปนี้
- ซักประวัติ เพื่อสอบถามอาการเบื้องต้น
- ตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก
- การตรวจการได้ยิน (Audiogram and Tympanogram) เป็นการตรวจเพื่อประเมินสภาวะการได้ยิน รวมถึงตรวจการทำงานของหูชั้นกลางและหูชั้นใน
- การตรวจคัดกรองการได้ยิน OAE (Otoacoustic Emission) เป็นการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน ใช้สำหรับทารกแรกเกิด
- การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง ABR (Auditory Brainstem Response) โดยการติดสื่อนำสัญญาณ (Electrode) เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในระบบประสาทหูชั้นในส่วนลึก
- การตรวจการทำงานของการทดสอบระบบการทรงตัวในหูชั้นในเพื่อตรวจหาโรคหรือความผิดปกติของหูชั้นใน เช่น การตรวจ VHIT, EcoehG, VEMP หรือVNG เพื่อการแยกภาวะโรคสมอง หรือยืนยันความผิดปกติของระบบการทรงตัวในหูชั้นใน
วิธีป้องกันอาการหูอื้อ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังจนเกินไป
- ไม่ควรใส่หูฟังเวลานอนหลับ หรือใส่หูฟังที่เปิดเสียงดังมากเกินไป
- อย่าปั่นหรือแคะหู
วิธีบำบัดและรักษาอาการหูอื้อ
หากมีอาการหูอื้อควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรักษาตามอาการอย่างเหมาะสม โดยแนวทางในการรักษามีดังต่อไปนี้
- การรับประทานยาเพื่อรักษาตามอาการโรคที่ตรวจพบ
- การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดปะเยื่อแก้วหู (Myringoplasty) การผ่าตัดโพรงกระดูกมาสตอยด์ (Mastoidectomy) การผ่าตัดหูชั้นกลาง (Explore Middle) การผ่าตัดผังประสาทหูเทียม การใส่เครื่องช่วยฟัง
หากพบว่าตนเองมีอาการหูอื้อ หรือหูมีเสียงอื้ออึง เสียงหวีด อย่าปล่อยไว้ให้เป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ชำนาญการด้าน โสต ศอ นาศิก (หู คอ จมูก) เพื่อหาทางรักษาอย่างรวดเร็ว ที่ศูนย์หูคอจมูก โรงพยาบาลเวชธานี พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษา ด้วยเครื่องมือตรวจรักษาที่ทันสมัย โดยแพทย์ชำนาญการด้าน โสต ศอ นาศิก (หู คอ จมูก)เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หูคอจมูก ชั้น 1 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3400
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating