“โรคไข้หวัดใหญ่ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม” - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

“โรคไข้หวัดใหญ่ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม”

Share:

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มีความรุนแรงมากกว่าไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ แพร่กระจายได้ง่ายผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม โดยพบการระบาดและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฤดูหนาวที่ยาวนานกว่าทุกปี ซึ่งไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย อาจนำไปสู่ภาวะวิกฤติหรือเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว

แพทย์หญิงวรินทิพย์ มหาพสุธานนท์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ไข้หวัดใหญ่ต่างจากไข้หวัดทั่วไป เพราะมีอาการรุนแรงกว่าและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยขนาดเล็กจากการไอหรือจาม และสามารถติดต่อได้ทางการสัมผัสพื้นผิวหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์มือถือ หรือโต๊ะทำงาน แล้วนำมือไปสัมผัสใบหน้า (ตา, จมูก, ปาก) ระยะฟักตัวของไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 1-4 วัน โดยผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ ตั้งแต่ 1 วันก่อนแสดงอาการ ไปจนถึง 5-7 วันหลังจากมีอาการแรกเริ่ม สำหรับเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจแพร่เชื้อได้นานกว่านี้

ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอาการหลัก ดังนี้

  • ไข้สูง (38-40°C) เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง แขน ขา
  • ปวดศีรษะรุนแรง รู้สึกหนักศีรษะหรือหรือเวียนศีรษะ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง อาการอาจคงอยู่นานหลายวัน
  • ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ อาจมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย
  • น้ำมูกไหล คัดจมูก แต่ไม่เด่นชัดเท่ากับไข้หวัดทั่วไป
  • หนาวสั่น เหงื่อออก เนื่องจากไข้ขึ้นสูง
  • เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน พบได้บ่อยในเด็ก

อาการส่วนใหญ่มักดีขึ้นภายใน 7-10 วัน แต่ในบางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ โดยมีกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ง่าย คือ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี, ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคตับ) และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ติดเชื้อ HIV

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ควรระวัง

  • ปอดอักเสบ (Pneumonia): เชื้อไวรัสสามารถลุกลามเข้าสู่ปอด ทำให้หายใจลำบาก อาจเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่เอง หรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis): ทำให้หัวใจอ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • สมองอักเสบ (Encephalitis): ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง ชัก หรือหมดสติ
  • ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว (Sepsis): ทำให้ความดันโลหิตต่ำจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
    กล้ามเนื้ออักเสบและไตวาย: บางรายอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง (Rhabdomyolysis) และเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome – ARDS) เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยวิกฤติ

 โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ สายพันธุ์ A เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงและเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก พบเป็นสายพันธุ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทย, สายพันธุ์ B มักระบาดตามฤดูกาลและอาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A, สายพันธุ์ C มีอาการไม่รุนแรงและไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ และสายพันธุ์ D พบการระบาดในสัตว์เท่านั้น และยังไม่มีหลักฐานว่าทำให้เกิดโรคในมนุษย์

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ จะช่วยลดโอกาสป่วย ลดอัตราการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรคและป้องกันภาวะแทรกซ้อน  นอกจากนี้ยังแนะนำให้ดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่แออัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย งดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 5300

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (2 )
  • Your Rating