ไตเป็นอวัยวะในช่องท้องทางด้านหลังอยู่ระดับเดียวกับบั้นเอว มีรูปร่างคล้ายถั่ว ไตมีสองข้าง แต่ละข้างมีขนาดประมาณหนึ่งกำมือ หน้าที่หลักของไต คือ ขับน้ำส่วนเกินและของเสียที่เกิดจากการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ออกนอกร่างกายผ่านทางปัสสาวะนอกจากหน้าที่ขับน้ำและของเสียออกจากร่างกายแล้วไตยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก คือ
- ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
- ควบคุมความเป็นกรดด่างในร่างกาย
- ควบคุมความดัน
- ควบคุมการสร้างวิตามินดี ช่วยรักษาสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัสและการสร้างกระดูก
- ผลิตฮอร์โมน erythropoietin ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
- ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น renin-angiotensin-aldosterone system และ prostaglandin ที่มีผลต่อการควบคุมความดันเลือด และกระบวนการอักเสบของร่างกาย
อาการของโรคไตวายเรื้อรัง
ภาวะไตวายเป็นภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด ไม่สามารถขับของเสียผ่านทางปัสสาวะได้ ทำให้ของเสียตกค้างในร่างกาย อีกทั้งยังทำให้ระดับน้ำ เกลือแร่และแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายขาดความสมดุลส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ภาวะไตวายมีอาการดังต่อไปนี้
- หน้าบวม ขาบวม
- ปัสสาวะลดลง
- ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน
- ปัสสาวะมีฟอง หรือ เลือดปน
- ผิวแห้ง และ คัน
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ลมหายใจมีกลิ่นเหมือนปัสสาวะ
ทางเลือกการรักษาภาวะไตวาย มี 3 วิธี ได้แก่
- ล้างไตทางช่องท้อง คือการใช้สายยางฝังไว้ในช่องท้องแบบถาวรและใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง เพื่อฟอกของเสียในเลือดออก รวมถึงปรับสมดุลของน้ำเกลือแร่ และสารเคมีต่าง ๆ โดยต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาทุกวัน วันละ 4 – 6 ครั้ง สามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีเพื่อลดโอกาสติดเชื้อในช่องท้อง
- ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมคือการนำเลือดของผู้ป่วยออกจากร่างกายด้วยการแทงเข็มเข้าเส้นเลือดแล้วต่อกับท่อไปยังตัวกรองเพื่อให้เลือดสะอาดและปรับสมดุลแร่ธาตุต่างๆ เครื่องไตเทียมจะนำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายตามเดิม โดยกระบวนการฟอกเลือดนี้จะใช้เวลาครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะต้องมารับการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง
- ปลูกถ่ายไต คือการผ่าตัดนำไตของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นการบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่มาทำหน้าที่แทนไตเดิมของผู้ป่วย โดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานแล้วต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะไม่ต้องบำบัดด้วยการฟอกไตอีกต่อไปแต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านไตใหม่ หรือที่เรียกว่าภาวะสลัดไต โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรงไม่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะติดเชื้อและไม่มีโรคหัวใจรุนแรง
ตัวเลือกการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต (living-related kidney transplant)
ตามหลักเกณฑ์ที่ระบุตามกฎหมายผู้บริจาคไตต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง ลูก หลาน ลุง ป้า น้า อา หรือจากสามีภรรยาที่แต่งงาน หรืออยู่ด้วยกันมากกว่า 3 ปี ยกเว้นมีบุตรด้วยกันไม่จำเป็นต้องรอจนครบ 3 ปี
- การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย (deceased donor kidney transplant)
เป็นการนำไตมาจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายโดยได้รับการจัดสรรผ่านศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยซึ่งเป็นผู้จัดหาผู้บริจาคอวัยวะและจัดสรรไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายอย่างเป็นธรรมเสมอภาคและถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยไม่มีการซื้อขายอวัยวะ
ข้อดี-ข้อเสียของการปลูกถ่ายไต
การปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ให้ผลดีที่สุดแต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็มีข้อจำกัดบางประการซึ่งต้องมีการวางแผนการรักษาร่วมกันระหว่างทีมแพทย์และตัวผู้ป่วยเพื่อให้การรักษานี้เกิดประโยชน์สูงสุดและปลอดภัยที่สุดกับตัวผู้ป่วย
- ไม่ต้องฟอกเลือด หรือ ล้างไตทางหน้าท้อง
- ร่างกายแข็งแรง
- ไม่ต้องควบคุมอาหาร และ น้ำอย่างเคร่งครัด
- คุณภาพชีวิตดีขึ้น
- สามารถมีบุตรได้ตามปกติ
- มีความเสี่ยงในการผ่าตัด
- ต้องรับประทานยากดภูมิตลอดชีวิต
- มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จากผลข้างเคียงของยากดภูมิ
- มีความเสี่ยงต่อการปฏิเสธไตของร่างกาย
คุณสมบัติของผู้รับการปลูกถ่ายไต (recipient)
- เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตอยู่
- ไม่มีประวัติโรคติดเชื้อที่เป็นข้อห้าม อาทิ (HIV) และ ไม่มีปัญหายาเสพติด
- สามารถติดตามคำแนะนำของแพทย์และมารับการติดตามการรักษาได้อย่างสม่ำเสมอ
- ยอมรับและสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดจากการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตได้
- หากเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติมะเร็งมาก่อนจะต้องได้รับการรักษาให้หายขาดมาแล้วอย่างน้อย 2-5 ปี แล้วแต่ชนิดของมะเร็ง
- ไม่เป็นผู้ที่มีภาวะความเสี่ยงสำหรับการผ่าตัด เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว
- มีภาวะจิตที่ปกติซึ่งจะมีการประเมินจากจิตแพทย์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด